น้อง.พี่.ที่รัก - Nong Phee Teerak
หนัง Nong.Pee.Teerak หรือชื่อไทยว่า น้อง.พี่.ที่รัก “น้อง.พี่.ที่รัก” เมื่อ ‘น้องสาว’ ตัวท็อป เปิดจ๊อบสู้รบกับ ‘พี่ชาย’ ตัวห่วย เพื่อช่วย ‘ที่รัก’ ตัวจริง ไม่ให้ชิ่งหนีไป ตั้งแต่เด็ก ชัช (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) คิดมาตลอดว่าน้องที่อยู่ในท้องแม่คือน้องชาย พอถึงวันที่แม่คลอดแล้วกลายเป็นน้องสาว ชัชจึงเซ็งระดับสิบ ความฝันที่จะได้เล่นหุ่นยนต์และเตะบอลแมนๆ กับน้องก็จบไป เพราะเล่นกับไอ้เจน (ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด์) ทีไร มันก็ร้องไห้งอแงทุกที ตั้งแต่เด็กจนโต ชัชกับเจนตีกันได้ ทุกเรื่อง เพราะเจนชอบทำตัวเหมือนเป็นแม่มากกว่าเป็นน้อง ส่วนชัชก็ชอบทำตัวเป็นภาระมากกว่าเป็นพี่ จะมีพี่ชายคนไหนที่ห่วยกว่าน้องสาวไปซะทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน กีฬา หน้าตา นิสัย แข่งกัน ยังไง เจนก็เพอร์เฟคกว่า เวลาเดียวที่ชัชจะโชว์เหนือทำตัวเป็นพี่ ก็คือตอนที่มีคนมาจีบเจน ชัชจะทำตัวกร่างไล่หนุ่มๆให้หนีหายไปหมด เหมือนเป็นการเอาคืน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เจนต้องปิดบังความรักระหว่างเธอกับโมจิ (นิชคุณ หรเวชกุล) ชายหนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่น สุดเพอร์เฟค เพราะเจนไม่อยากให้รักครั้งนี้ต้องพังยับด้วยน้ำมือของพี่ชัชเหมือนที่ผ่านมา แต่ความรักไม่ใช่ความลับ ชัชรู้จนได้ว่าเจนกับโมจิแอบคบกัน แล้วมีเหรอที่ชัชจะยอมปล่อยผ่าน ก็บอกแล้วว่าอะไรที่ทำให้น้องมีความสุข พี่ชายที่แสนดีอย่างชัชจะไม่มีวันยอมให้เกิดขึ้นแน่นอน!!
รีวิววิจารณ์หนัง (0)
น้อง-พี่-ที่รัก
หลังดูจบก็ยอมรับว่าหนังสามารถทำให้คนดู เห็นตัวละครได้ทุกอารมณ์ทั้ง ตลก ความรักของแฟน ความรักของพี่น้อง เศร้า ซึ้ง ดราม่า หนังทำได้ทุกอย่าง ก็ต้องยอมรับว่าหนังของค่าย GDH นี่ไม่ธรรมดาทุกเรื่องเลยจริงๆ คนที่เป็นลูกคนเดียวก็ดูหนังนี้ได้ คนมีพี่น้องยิ่งต้องดู ถือว่าเป็นหนังไทยเพชรน้ำงามของปีนี้เลยทีเดียว
คุณภาพของภาพและเสียง
ภาพชัดมาก มุมกล้องแต่ละฉากก็สวยมาก บางทีเราก็คิดว่ามุมกล้องแบบนี้เค้าคิดได้ยังไง มันดีมาก มันมีเรื่องราวจากมุมกล้องเลยจริงๆ เสียงหรือ Sound ก็ใส่ได้ถูกจังหวะ เพลงประกอบก็เข้ากับหนังมาก ย้ำว่ามาก จนออกจากโรงก็เปิดหาเพลงมาฟังเลยละ แต่มีข้อติคือหนังไทยจอของหนังมันไม่กว้างคือไม่ได้ยืดไปสุดขอบซ้ายขวา ดูกี่เรื่องหน้าจอมันเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสตลอดเลย มันเหมือนใช้เนื้อที่หน้าจอในโรงไม่คุ้มอะ แต่พอดูไปสักพักก็ชินครับ (แต่มันน่าหงุดหงิดจริงๆ นะ)
บทหนัง เนื้อเรื่อง การดำเนินเรื่อง
บทหนังและเนื้อเรื่องทำได้ดีมากๆ แบบว่าเราเดาไม่ออกเลยว่าเนื้อเรื่องจะไปทางไหน ความสัมพันธ์เรื่องพี่น้องที่เป็นความสัมพันธ์สำคัญเป็นเส้นเรื่องหลักของหนัง ทำได้ดีกว่าที่คิดมาก บางคนน่าจะอินกับความสัมพันธ์ พฤติกรรมพี่-น้องแบบนี้จนต้องรู้สึกว่าใช่เลยแน่ๆ ฉากที่พีคก็ทำได้สุดจริงๆ และอีกอย่างที่ชอบมากๆ ก็คือที่ตัวอย่างหลอกเราไปทางนึง พอมาดูจริงๆ เนื้อเรื่องไม่ใช่แบบในตัวอย่าง ทำให้เรารู้สึกว่าเนื้อเรื่องไม่โดนสปอยล์จากตัวอย่าง ทำให้เราดูหนังได้เต็มอิ่มแบบสุดๆ ไปเลย ส่วนการดำเนินเรื่อง ฉากตลกคือชอบมาก ซันนี่เล่นได้ดีและเคมีเข้ากับญาญ่ามาก ฉากซึ้งดราม่าก็ทำได้ดี แต่มีบางฉากลากยาวมาก ทำให้จะซึ้งก็ไม่ซึ้งซะงั้น แถมบางทีแอบน่าเบื่อ กลายเป็นหนังยาวที่มีบางฉากน่าเบื่ออยู่
ด้านดี
แน่นอนซันนี่และญาญ่าเล่นได้เข้ากันมาก บอกถึงความเป็นพี่น้องได้โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรมาก เนื้อเรื่องที่เดาไม่ออกทำให้เราตื่นเต้นกับเนื้อเรื่องตลอดเวลา ฉากตลกซันนี่ทำได้ดีมากๆ ฮาทุกฉากเลยนะไม่มีแป๊กเลย ซันนี้ทำให้หนังสนุกขึ้นมาหลายเท่า เป็นคนแบกหนังเรื่องนี้เลยก็ว่าได้ และซันนี่ก็ทำออกมาได้ดี ดีมาก ถูกใจผมมากเลยครับ ส่วนญาญ่าก็มีหลุดๆ บ้างแต่อย่างที่บอกว่าเคมีตรงกันมาก ฉากรักลื่นไหล ฉากดราม่าก็เข้าถึงอารมณ์ ดูแล้วคุณอาจจะหลงรักญาญ่าไปด้วยเลยครับ
ด้านแย่
หน้าจอเลยครับ จอไม่กว้าง มันขัดตาตอนแรกๆ แต่พอดูสักพักก็จะชินครับ อีกเรื่องคือนิชคุณ คือเล่นแข็งพอสมควรแต่ผู้กำกับก็เก่งมากนะ เพราะรู้ว่านิชคุณเล่นแข็ง ก็ทำให้คาแรกเตอร์ของโมจิที่นิชคุณเล่น มีบุคลิกแข็งๆ ไปด้วยเลย แต่ก็มีอะไรที่ขัดใจผมตลอดเวลา มันหงุดหงิดจริงๆ (ความรู้สึกส่วนตัวนะครับ)
น้อง-พี่-ที่รักถือเป็นหนังไทยที่ดีมากๆ ในปีนี้เลยครับ ก็อยากแนะนำให้ทุกคนเข้าไปดู รับรองว่าต้องไม่ผิดหวัง แถมบางคนอาจจะซึ้งจนน้ำตาไหลเลยทีเดียว
น้อง พี่ ที่รัก | วิทยา ทองอยู่ยง
หนังลำดับต่อมาของ GDH ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงไม่ว่าจะด้านไหน ความสมจริงในเรื่อง กระบวนการนำเสนอที่ตรงไปตรงมา และแต้มแต่งด้วยมุขตลกโปกฮา ทำให้หนังได้พื้นที่ที่น่าสนใจของภาพยนตร์ไทยที่ดี เพราะถึงแม้คนจะเข้าไปโดยคาดหวังจะได้ความสนุกสนาน บันเทิงตลกๆ แบบชนชั้นกลางใสๆ แต่สิ่งที่หนังนำเสนอกลับเป็นมุมครอบครัวที่หนักมาก ที่แอบซ่อนอยู่ในสังคมไทย โดยเราพยายามเอาเสียงหัวเราะมากลบเกลื่อนเอาไว้ หรือทำเป็นไม่สนใจ การเคลือบหนังด้วยความคาดหวังที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงของหนังตัวอย่างและการตลาดเป็นความเสี่ยงที่สูงโดยเฉพาะระหว่างความตลกกับดราม่า แต่ด้วยความสมจริงมากๆ ด้านความสัมพันธ์ ทำให้หนังมันทะลุความคาดหมายดั้งเดิม จนทำให้มีประเด็นที่น่าสนใจมากๆ ให้จับต้อง ให้รู้สึก ย้อนกลับไปดูตัวเอง
สำหรับผมแล้วมันเป็นหนังที่ดีเลยหล่ะ มันทำให้เราอินกับความจริงที่ผู้กำกับมานำเสนอ แต่ในช่วงท้ายบทจบ ผมกลับไม่ชอบเลย ไม่ได้หมายความว่าบทมันไม่ดีนะ มันทำงานของมันดีมากแล้ว ฮุคได้สวย จบได้พีค เพราะธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ทั่วไปเป็นแบบนั้นนั่นแหละ
แต่เราเกลียดตอนจบของหนัง หมายถึงเราไม่ชอบแนวทางการมองตัวละครของผู้กำกับ และผู้คนที่รับผิดชอบบทที่มีต่อมนุษย์ สังคม และความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง เราไม่ชอบชุดความคิดเหล่านั้นที่ทำให้เกิดตอนจบแบบนี้
น้อง พี่ ที่รัก เอื้อให้เห็นความพังพินาศของระบบ “ครอบครัว” ไทยได้ตรงไปตรงมามากๆ ฝังรากมาจากความล้มเหลวเชิงโครงสร้าง ความไม่รู้ของสังคม และธรรมชาติของประเทศเรา เช่นการดูแลโดยใช้ผลการเรียนเป็นใหญ่ การเปรียบเทียบระหว่างพี่น้อง ไม่ใช่แค่ชัชจะรู้สึกแย่กับการแพ้ การไม่ฉลาดเท่านั้น เจนเองก็จะต้องดี เพอร์เฟ็ค เอาชนะพี่ชายอยู่ร่ำไป แถมยังมีภาวะ Father Complex ในตัวชัชซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูแบบแม่เลี้ยงเดี่ยว (ที่ท่วมท้นด้วยการไม่รู้) ที่ปั้นสร้างความสัมพันธ์ที่หักพังระหว่างเจน และชัชขึ้นมา โดยรอบๆ ความคิดนั้นมีทุนนิยม และอุดมคติครอบครัวครอบรับเอาไว้อีกที
แต่แม่ของชัชกับป้าของเด็กทั้งสองก็ทำเต็มที่ในแบบของเขาแล้วแหละ เราไม่ได้มอบความรู้เหล่านี้ให้มากพออยู่แล้วตั้งแต่แรก
หนังมันเลยเป็นเรื่องราวของผลผลิตจากความหักพังระหว่างความสัมพันธ์ที่กดทับของสังคมลงมาอย่างรุนแรง ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผู้กำกับพยายามนำเสนอด้านนี้หรือเปล่า เพราะหนังมักจะกลบเกลี่ยความแหลกเละนี้ด้วยความสนุกสนานโปกฮา ซึ่งก็ทำให้สีสันของหนังมันสนุกสนานน่าติดตามไปพร้อมๆ กัน ซึ่งชุดความคิดที่สร้างตัวละครเหล่านี้ขึ้นมา ก็คือชุดเดียวกับคนดู มันก็เลยแนบสนิทกับคนดูพอสมควรเลย
แถมความเป็นพี่น้องในหนังเรื่องนี้แจ่มชัดมาก เรียกได้ว่าแทบเอา Insight ประสบการณ์ของความเป็นลูกสองคนมาตีแผ่แบบช๊อตต่อช๊อตเลย จังหวะความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องถือเป็นตัวเอกของเรื่อง ก็เลยทำให้บทบาทความรักของหนังเรื่องนี้ถูกสำรวจน้อย ค่อนข้างแปลกๆ ด้วยซ้ำ สำหรับเราแล้วชีวิตด้านอื่นๆ ของเจนดูเหมือนในความฝันเลย แถมเป็นไปตามขนบของอุดมคติมนุษย์เงินเดือน เหมือนกับจงใจให้เห็นว่าสิ่งที่ชิบหายในชีวิตจริงๆ ของเจนคือเรื่องราวของชัช แต่จริงๆ แล้วเรารู้ดีอยู่แก่ใจว่าแนวคิดเพอร์เฟ็คชันนิสต์ของตัวเจนมันมีปัญหาขนาดไหน
ช่วงจังหวะที่เราไม่ชอบที่สุด คือช่วงเวลาที่ “ชัช” เลือกที่จะตรงไปตรงมาครั้งแรกกับ “เจน” ณ พื้นที่ตรงนั้น ในช่วงเวลาที่พีคที่สุดของเรื่อง กลับไม่มีใครยืนอยู่ในพื้นที่ของชัชเลย ไม่มีใครเข้าใจเขา ไม่มีใครฟังเขา และอีกครั้งที่ทุกคนพร้อมจะเห็นใจเจนเสมอ เกมที่เจนเล่น เจนก็ชนะอีกครั้ง ไม่ว่าจะพื้นที่ไหนก็ตาม ใครๆ ก็กดชัช บีบชัช โทษตัวของชัช
ทั้งๆ ที่ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันเสมอ เราทุกคนเป็นผู้รับผิดชอบการเป็นของคนที่เรารักเสมอ
และก็เป็นฝ่ายชัชที่ต้องดูแลตัวเอง เปิดออกไปหาผู้คน แต่สุดท้ายเขาก็ตาย และก็ยังไม่มีใครเข้าใจเขาอยู่ดี...เป็นคนที่โดดเดี่ยวที่สุด บ้าคลั่งที่สุด และเป็นคนที่เจ็บปวดที่สุด สัญญะของการเลิกเหล้า มันอาจดูดีนะในเรื่อง แต่สำหรับเรามันน่าเจ็บปวดมาก โดยเฉพาะสุดท้ายเขาก็ยอมแพ้ จริงๆ เขาอาจก้าวข้าม "การแพ้ชนะ" ไปแล้ว แต่สำหรับเราในเรื่องไม่ได้เปิดเผยตรงนี้ชัดเจนพอ สุดท้ายชัชก็ต้องเข้าหาสังคม ยอมโดนโบยตีจากมันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งที่สร้างเขาขึ้นมา อย่างไม่รู้ตัว
ฉะนั้นตอนจบมันถึงเป็นแบบนั้น ชีวิตทั้งสองจะจมดิ่งลงไปกว่านี้อีก เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข ไม่ได้ถูกมองเห็น เราจึงเกลียดการปล่อยปละละเลยแบบนั้นในเรื่อง
ซึ่งมันอาจดีสำหรับหนังก็เป็นได้ เพราะมันก็เป็น Insight ที่ตรงกับทุกครอบครัวที่จะมีคนน่ารังเกียจแบบ Omega เสมอ หนังสร้างรอบๆ คนที่ต้องทนอยู่กับคนแบบชัช มากกว่าจะเข้าไปเข้าใจชัชจริงๆ และจุดจบมันก็เป็นแบบนี้แหละ (มันมีวิธีแก้น่ะนะ มันคือ Family Therapy แต่อย่างว่าแหละ ขนาดอเมริกายังไม่สนใจเลย นับภาษาอะไรกับครอบครัวคนไทยที่มีค่านิยมแย่ๆ กับจิตวิทยา) ธรรมชาติของสังคมมนุษย์เป็นแบบนี้เสมอ จุดจบแบบนั้นก็เป็นความสมจริงที่สุด ที่สุดท้ายพวกเขาก็จะไม่รู้อะไรเลยอยู่ดีว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะอะไร ต้องทนอยู่ต่อไป เยียวยาชีวิตกันต่อไป
เจนจึงกลายเป็นการกดข่ม การชนะ และกลายเป็นตัวอย่างชีวิตที่ดีงามของชนชั้นกลางที่แทบจะเหมือนความฝัน ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นดีว่าชุดความคิดใดถึงได้สร้างตัวละครแบบนี้ขึ้นมา
อย่างที่บอกว่ามันเป็นหนังที่ดีมากเรื่องหนึ่งเลยล่ะ ทำหน้าที่ให้เราอินได้ขนาดนี้ คือการที่เราเกลียดตอนจบ มันก็แสดงให้เห็นชัดเจนเลยแหละว่าชุดความคิดที่สร้างมันแข็งแรงแค่ไหน และหนังก็ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดออกมาได้ตรงไปตรงมาซะเหลือเกิน มันก็ทำนองเดียวกับการที่ผมเกลียดอนุรักษ์นิยมหน่ะนะ ผมก็แค่เกลียดสังคมแบบนั้น ที่จงใจสร้างคนขี้แพ้ขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว และด่าเขาว่าทำตัวเองทั้งนั้น ก็แค่นั้่นเอง
การเดินเรื่องอาจแปลกๆ ไปหน่อยสำหรับหนัง GDH ปกติ นักแสดงเล่นเป็นตัวเองมากๆ แต่ก็แสดงเข้ากับบทดี หากเข้าไปดูแล้วจะได้อะไรมากกว่าความตลกเจ็บตัวแน่นอน ผมคิดว่าทุกคนจะได้อะไรบางอย่างกลับไปจากการดูหนังเรื่องนี้จริงๆ
สรุปผลวิจารณ์หนัง