The Post - เอกสารลับเพนตากอน
หนัง The Post หรือชื่อไทยว่า เอกสารลับเพนตากอน The Post เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกที่เมอริล สตรีพ, ทอม แฮงค์และสตีเวน สปีลเบิร์กได้โคจรมาพบกัน นอกเหนือจากหน้าที่กำกับแล้ว สปีลเบิร์กยังได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ร่วมกับเอมี ปาสคัลและคริสตี้ มาคอสโก้ ครีเกอร์ บทภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนโดยลิซ ฮันนาห์และจอช ซิงเกอร์ และนำแสดงโดยทีมนักแสดงชื่อดัง รวมถึงอลิสัน บรี, แคร์รีย์ คูน, เดวิด ครอส, บรูซ กรีนวู้ด, เทรซี เล็ทส์, บ็อบ โอเดนเคิร์ค, ซาราห์ พอลสัน, เจสซี พลีมอนส์, แมทธิว ริส, ไมเคิล สตูห์ลบาร์ก, แบรดลีย์ วิทฟอร์ดและแซ็ค วู้ดส์ แผนการปกปิดที่ยาวนานครอบคลุมช่วงเวลาของประธานาธิบดีสหรัฐฯสี่คนได้ผลักดันให้นักหนังสือพิมพ์หญิงคนแรกของประเทศและบรรณาธิการผู้มุ่งมั่นให้ร่วมมือกันในการต่อสู้ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนระหว่างนักหนังสือพิมพ์และรัฐบาล ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง
หนัง The Post หรือชื่อไทยว่า เอกสารลับเพนตากอน A cover-up that spanned four U.S. Presidents pushed the country's first female newspaper publisher and a hard-driving editor to join an unprecedented battle between journalist and government. Inspired by true events.
รีวิววิจารณ์หนัง (0)
เล่าเรื่องใหม่...ในเรื่องเก่า
เรื่องสงครามโลก สงครามเวียดนาม สงครามต่างๆ ถูกฮอลลีวู้ดนำมาสร้างไว้อย่างหลากหลาย ทั้งในแง่เชิดชูสันติภาพ พลังจิตใจ การต่อสู้เอาตัวรอด ความเหี้ยมโหดที่ไร้มนุษยธรรม ความหมายของชีวิต ไม่ว่าจะแง่มุมไหน ก็ถูกสร้างมาเกือบรอบทิศทางซ้ำไปซ้ำมา แต่สำหรับในประเด็นเก่าๆ The Post ได้เล่าถึงอีกประเด็นหนึ่งของอำนาจและจรรยาบรรณของสื่อมวลชนที่เพิ่งนำมาให้ความสำคัญในสังคมในยุคสมัยสงครามเวียดนามเป็นครั้งแรกๆ
เป็นหนังที่เล่าประเด็นเกี่ยวกับสื่ออย่างเดียวเลยตลอดทั้งเรื่อง เล่าในแง่การทำหน้าที่ที่แท้จริง และการอยู่รอดของวงการสื่อหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น เราจะได้เห็นการเป็นไปในวงการสื่อยุคนั้นอย่างลึกซึ้งจากหนังผ่านการเล่าเรื่องของการดำเนินธุรกิจสื่อของสำนักพิมพ์วอลชิงตันโพสต์ตั้งแต่สมัยยังเป็นเพียงสำนักพิมพ์ท้องถิ่น การถ่ายทอดสุดล้ำลึกของเฮียผู้กำกับ สตีเฟ่น สปิลเบิร์ก ผู้ซึ่งทำหนังสงครามมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ทั้ง Saving Pirate Ryan, War Horse, Schindler's List, Forest Gump ผ่านการแสดงของลุงทอม แฮงก์นักแสดงคู่บุญ และ Meryl Streep ที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างลงตัว
หนังเรื่องนี้เนื้อหาส่วนใหญ่อยู่ที่บทสนทนา ต้องมีความรู้ประวัติศาสตร์ประมาณนึงเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม และประวัติศาสตร์ช่วงยุคสมัยสงครามของอเมริกาจะเข้าใจมาก ตอนแรกๆ เด็กเดินตั๋วค่อนข้างเอนเอียงไปทางง่วงและเบื่อ แต่ช่วงกลางไปถึงท้าย พอเริ่มเข้าใจมากขึ้นปรากฏว่าอยู่ได้ และซาบซึ้งแทบน้ำตาไหลไปกับจรรยาบรรณสื่อ ไม่เคยรู้สึกซาบซึ้งในวิชาชีพสื่อขนาดนี้มาก่อน เพิ่งได้เข้าใจ (คนข้างๆ เด็กเดินตั๋วร้องไห้ขี้มูกโป่งไปเลย) เด็กเดินตั๋วไม่กังขาเลยว่าทำไมเรื่องนี้ได้เข้าชิงภาพยนตร์ออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีนี้ ไร้ที่ติจริงๆ
- เด็กเดินตั๋ว -
สรุปผลวิจารณ์หนัง
The Post - เอกสารลับเพนตากอน
116 min | Biography/Drama | Directed by Steven Spielberg
เรื่องลวงโลกของอเมริกันที่ปกปิดประชาชนเกี่ยวกับสงครามเวียดนามถึงคราวต้องถูกเปิดเผย เมื่อบรรดาสื่ออย่าง นิวยอร์คไทม์ และ วอชิงตันโพสต์ ได้รับเอกสารลับที่จะเปิดโปงความจริงที่ซ่อนอยู่ สร้างจากเหตุการณ์จริงของวงการสื่อเมกันกับเรื่องราวใหญ่โตที่สุดครั้งนึงในวงการสื่อ และ การเมืองอเมริกัน
หลังจากที่ผมสูญสิ้นศรัทธาไปนิดๆ กับ BFG เรื่องนี้ปู่สปีลเบิร์กกลับมาคืนฟอร์มอีกครั้ง ในแง่มุมของการกำกับ โปรดัคชั่นเทคนิคการถ่ายทำต่างๆ เต็มสิบ ให้ร้อย เพราะมันสร้างความหวือหวาให้กับบทที่ราบเรียบของหนังได้อย่างดีเยี่ยม การตัดต่อ ดนตรีประกอบ การกำกับภาพ การเคลื่อนกล้องต่างๆ เปรี้ยวมากกก ดีมาก แถมเรื่องราวที่หยิบยกมาก็ค่อนข้างที่จะร่วมสมัยมาก ในแง่ของการวิพากษ์หน้าที่สื่อมวลชน เหน็บการเมือง รวมไปถึงพลังหญิง เฟมินิสท์ต่าง ๆ ที่ได้ไอคอนิกอย่าง เมอริล สตรีปมาชูประเด็นนี้ ซึ่งป้าก็ทำได้ดีมากตามมาตรฐาน เอาเข้าจริงๆ หนังเรื่องนี้เป็นหนังอีกเรื่องที่รวมดาว ทั้งนักแสดงรุ่นเก๋า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ พ่อแม่มากันเพียบ รับส่งกันได้ลื่นไหล และขนลุกจริงๆ
The Post คือภาพยนตร์อีกเรื่องที่พิสูจน์แล้วว่าเหมาะสมกับการเป็น 1 ใน 9 ผู้เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ดูไม่ยาก และรีเลทกับการเมืองเมกา (รวมไปถึงบ้านเราด้วย) ไม่อยากให้มองข้ามและแนะนำให้ไปชมอย่างยิ่งครับ
The Post | Steven Spielberg
หนังสไตล์ตระกูลนักข่าว ที่มีทั้งความเผ็ดมันส์ของการหาข่าว การสู้กับรัฐ และมีความละมุนละม่อมของการเล่าเรื่องที่เรียบง่าย ผ่านมุมมองที่ควรจะตรงกันข้ามกันระหว่าง “สื่อ” “ประชาธิปไตย” และ “ทุนนิยม" กำกับโดยพ่อมดภาพยนตร์สปิลเบิร์ก โดยหนังจะพูดถึงเรื่องราวหัวเลี้ยวหัวต่อของเจ้าของหนังสือพิมพ์วอร์ชิงตันโพสต์ กับบรรณาธิการในการตีพิมพ์หนังสือลับสุดยอดในระหว่างสงครามเวียดนาม
อาจมีส่วนคล้าย Spotlight หนังนักข่าวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการละเมิดทางเพศของเด็กกับบาทหลวงอยู่เยอะ โดยจุดร่วมที่มีคล้ายกันคือความดุเดือดในการล่าข่าว ล่าข้อมูล ความปลอดภัยของแหล่งข่าว การตีพิมพ์ที่แข่งกับเวลา ต้นฉบับ และอำนาจบางอย่างที่คุกคามตัวละครทั้งหลาย แต่สปิลเบิร์กได้ใส่ส่วนประกอบบางอย่างขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือภาวะการตัดสินใจของตัวละครอย่าง เคย์ แกรแฮม ผู้ต้องขับเคี่ยวและเสี่ยงกับเรื่องราวของ “เสรีภาพของสื่อ” ในทิศทางของนักธุรกิจเข้าไป ซึ่งเธอเป็นเจ้าของตระกูลที่แบกรับการตัดสินใจขั้นใหญ่หลวงระหว่างภาครัฐ ผู้คน ครอบครัว เพื่อน และเพื่อตนเองอย่างหนัก โดยมีภาพอีกชั้นหนึ่งที่ผู้หญิงในยุคเหล่านั้นก็ถูกกดทับจากเพศชายให้เห็นอยู่เสมอๆ เป็นนัยยะที่ตอบรับออสการ์อย่างดี อีกฟากก็คือ เบน หัวหน้าบรรณาธิการซึ่งแบกรับความเสี่ยงของการสื่อ และการล่าข่าว เรียกได้ว่าบรรจงใส่รายละเอียดและใช้มันอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะการปล่อยหมัดลุ่นๆ ด้วยบทสนทนาของเบน หัวหน้าฝ่ายบรรณาธิการที่แสดงโดย ทอม แฮงค์ เจ้าของรางวัลออสการ์หลายสมัย กับเมอริล สตรีปที่เป็นเจ้าของรางวัลไม่ต่างกัน ที่เราจะได้เห็นฝีไม้ลายมือการแสดงระดับเทพ เต็มไปด้วยหลากหลายอารมณ์ในการสนทนาทั้งหลาย เรียกว่าแค่เสพนักแสดงก็สนุกแบบสุดตัวแล้ว แถมช่วงท้ายๆ การตัดต่อก็ทำได้พีคมากๆ สามารถดึงอารมณ์ร่วมออกมาได้แบบสุดยอด
แต่ในบรรดาความงดงามเหล่านั้น เรากลับได้กลิ่นอายความเก่าของมันอยู่มาก และค่อนข้างเชิดชูตัวละครไปในทิศทางที่มากเกินไปซักหน่อย แต่ความเป็นมนุษย์ของตัวละครที่แสดงโดยนักแสดงระดับมากรางวัล ก็ช่วยเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ออกมาได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นจังหวะหนังที่ออกมานอกจากจะตอบสนองต่อค่านิยมออสการ์ ทั้งในแง่ของการเหยียดเพศ เสรีภาพของสื่อแล้ว ก็ยังมีนัยยะเกี่ยวกับสังคมอเมริกากับประธานาธิบดีอยู่เยอะพอสมควร โดยเฉพาะแนวคิดที่สื่อมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐ และมีเสรีภาพที่จะนำเสนอให้กับสาธารณชน เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจนั่นเอง
จริงๆ เราชอบเรื่องความสามัคคีกันระหว่างสิ่งที่ไม่ควรจะเข้ากันได้ของทุนนิยม กับเสรีภาพในนี้มากๆ เลยนะ มันเหมือนไปตอกย้ำกันอีกรอบว่าถ้าไม่มีการลงทุน ไม่มีการเอาตัวรอดของบริษัท ตัววอชิงตันโพสต์เองก็จะไม่มีอำนาจ ถ้าตระกูลไม่ปราดเปรื่อง ดึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ระหว่างนักข่าวกับนักการเมือง ระหว่างนักข่าวกับนักลงทุน ระหว่างนักข่าวกับประชาชนไม่ได้ก็จะเอาตัวไม่รอดในกระแสเชี่ยวกรากของการเงิน แต่อำนาจนั้นเองก็ถูกตรวจสอบโดยประชาชนเช่นกัน เพราะสื่อเองอยู่ได้ด้วยเงินจากผู้คน และการทำหน้าที่ของมันก็คือการกลับไปตอบสนองนัยยะที่ตัวมันเองถูกสร้างขึ้น และเมื่อไหร่ก็ตามที่สื่อไม่สามารถทำตามหน้าที่นั้นได้ มันก็จะล่มสลายไปเพราะไม่มีใครให้ความสนใจในฐานะของสื่อ
เป็นหนังที่ได้หลายอารมณ์ในคราวเดียว และสมกับเป็นหนังเพื่อออสการ์อย่างรุนแรง คือมีทั้งเฟมินิสต์ สงครามสื่อ ประธานาธิบดี และการแสดง ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีในฐานะหนังสปิลเบอร์กเลยล่ะ งานตัดต่อ งานโปรดักชั่นคือคอมพลีทอย่างที่มันเป็น เป็นหนังออสการ์จ๋าอีกเรื่องที่ไม่ควรพลาด เพราะมันสามารถเรียกน้ำตาได้อย่างกลมกล่อมอย่างที่สุดเลยทีเดียว
สรุปผลวิจารณ์หนัง