0 Boyhood+-+%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%AE%E0%B8%B9%E0%B8%94

Boyhood - บอยฮูด

เข้าฉาย 12 กุมภาพันธ์ 2558
ผู้ชม : 5,666
ผู้กำกับ : Richard Linklater
ความยาวหนัง : ไม่ระบุ
Text Size
โดยริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ เป็นดรามาสมมติ ที่ใช้นักแสดงกลุ่มเดิมตลอดช่วงระยะเวลา 12 ปี ได้นำผู้ชมร่วมการเดินทางที่ไม่มีใครเหมือน ที่ทั้งยิ่งใหญ่แต่ก็ลึกซึ้ง ผ่านความมีชีวิตชีวาของวัยเด็ก การเปลี่ยนแปลงของครอบครัวสมัยใหม่และการไหลเวียนของกาลเวลา ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดตาม เมสัน (เอลลาร์ โคลเทรน) เด็กชายวัย 6 ขวบ ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่มีความพลิกผันอย่างรวดเร็วที่สุดในช่วงชีวิตของเรา ผ่านทางวังวนที่เราคุ้นเคยกันดีของการย้ายบ้านของครอบครัว เรื่องทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ชีวิตคู่ที่พังพินาศ การแต่งงานใหม่ โรงเรียนใหม่ รักแรก อกหัก ช่วงเวลาดีๆ ช่วงเวลาน่ากลัวและเรื่องราวที่ผสมผสานระหว่างหัวใจสลายและความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คาดเดาไม่ได้ ในตอนที่ช่วงเวลาหนึ่งร้อยเรียงต่อเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่ง ผสมผสานกลมกลืนกลายเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของเหตุการณ์ที่ขัดเกลาเราในตอนที่เราโตขึ้น และธรรมชาติชีวิตเราที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในตอนที่เรื่องราวเริ่มต้นขึ้น เมสัน เด็กชายช่างฝัน ที่เผชิญหน้ากับความวุ่นวาย โอลิเวีย(แพทริเซีย อาร์เควทท์) แม่ผู้เลี้ยงเขามาคนเดียวอย่างเหนื่อยยาก ตัดสินใจพาเขาและซาแมนธา (ลอเรไล ลิงค์เลเตอร์) พี่สาวของเขาย้ายไปฮูสตัน ในตอนที่เมสัน ซีเนียร์ (อีธาน ฮอว์ค) พ่อผู้ห่างหายไปนานของพวกเขากลับจากอลาสก้ามาสู่ชีวิตของพวกเขาอีกครั้ง นั่นเองคือจุดเริ่มต้นกระแสการดำเนินของชีวิตที่ไม่หยุดยั้ง อย่างไรก็ดี ท่ามกลางคลื่นถาโถมของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เด็กผู้หญิง ครู หัวโจก อันตราย ความปรารถนา แรงสร้างสรรค์ เมสันก็เริ่มจะเดินไปบนเส้นทางของตัวเอง จากไอเดียเล็ก ๆ ของริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ในการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับวัยเด็ก มาสู่ประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของวงการภาพยนตร์ที่นำนักแสดงชุดเดียวกันมาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องเดียว โดยใช้เวลาถ่ายทำถึง 12 ปี เพื่อการติดตามการเติบโตของเด็กชายคนหนึ่ง Boyhood จะทำให้คุณได้สัมผัสความสุข เศร้า และซึ้ง ตลอดความยาวของภาพยนตร์เกือบ 3 ชั่วโมง และยังได้คิดถึงประสบการณ์เก่า ๆ ไปกับพัฒนาการของสังคมและวัฒนธรรม การเปลี่ยนผ่านด้านการเมือง และวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ในภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย กำหนดฉายในประเทศไทย 4 กันยายน นี้

รีวิววิจารณ์หนัง (0)

16 กันยายน 2557 00:43:08

Boyhood (Richard Linklater / 2014 / A+) E+30 for Enjoy 

นึกถึง Daniel Radcliff ที่เติบโตไปพร้อมๆ กับบท Harry Potter ร่วมสิบปีโดยที่มีแนวโน้มพัฒนาการความสูงและหน้าตาไปทางเดียวกันกับ Ellar Coltrane ซึ่งกายภาพของทั้งคู่ช่วยเสริมแง่มุมให้ตัวละครมากๆ อย่าง Harry Potter การเติบโตของ Daniel Radcliff ช่วยเพิ่มความเห่ยให้ตัวละครได้มากขึ้น สำหรับเรามันน่าเอาใจช่วยมากกว่าจะให้โตมาหล่อเหลาในแบบที่สาวๆ กรี๊ดกร๊าดกัน และ Ellar Coltrane ใน Boyhood ที่ถึงแม้ตัวละครในเรื่องไม่ได้ถึงขั้นเปลี่ยนไปมากมาย อย่างเช่น ความเชื่อศาสนา อุดมคติทางการเมือง หรือรสนิยมทางเพศ ซึ่งพอ Ellar Coltrane ไม่ได้โตมาด้วยรูปลักษณ์เพียงพอจะให้เป็นหนุ่มหล่อล่ำนักกีฬาแบบพิมพ์นิยม มันก็ทำให้เกิดตัวละครที่มีมิติไม่ธรรมดาโดยไม่ต้องปรุงแต่งมากมายซึ่งน่าสนใจไปอีกแบบ

นักแสดงทุกคนในเรื่องเติบโตไปพร้อมตัวละครตลอดระยะเวลา 12 ปี ของเรื่องราวในหนังที่เดินตามเวลาการถ่ายทำตั้งแต่ต้นจนจบ พอใช้วิธีนี้การเติบโตของตัวละครในหนังมันสมจริงมากขึ้น มันมีเสน่ห์ให้ติดตามทั้งโดยเฉพาะพัฒนาการรูปลักษณ์ภายนอกรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันจากการเติบโตของความรู้สึกนึกคิดทัศนคติและรสนิยมภายใน ที่ก่อให้เกิดอุปสรรคชีวิตความขัดแย้งการตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่ก้าวผ่านไปทีละน้อยได้เห็นการเติบโตที่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะทำให้เรานึกย้อนอดีตชีวิตครอบครัว ความรักและมิตรภาพทั้งดีงามและเลวร้ายตามไปพร้อมๆ กับตัวละครได้ ขนาดเราไม่ได้รู้จักวัฒนธรรมอเมริกาดีพอก็ยังรู้สึกเชื่อมโยงได้มากๆ จากลูกเล่นระลึกอดีตที่มาในรูปแบบของสื่อบันเทิงต่างๆ ทั้งเพลง การ์ตูน หนังสือ คลิปวิดีโอ โซเชียลมีเดียฯลฯ

นักแสดงกลายเป็นเมจิกขับเคลื่อนทุกอย่างให้มีชีวิตด้วยเสน่ห์จากวิธีการที่ยังไม่มีใครเคยทำช่วยสร้างมิติการรับรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยมีหนังเรื่องไหนไปถึง หรืออย่างน้อยส่วนตัวเรายังไม่เคยได้เห็นวิธีการเล่าด้วยนักแสดงแบบนี้ ให้ความรู้สึกคล้ายว่าเรากำลังเฝ้ามองเพื่อนบ้านเพื่อทำความรู้จักและเรียนรู้เรื่องราวการเติบโตของคนที่มีตัวตนจริงๆ เรื่องราวมันเข้าถึงเราแบบไม่ต้องพยายามซึมซาบรมเร้าให้รู้สึกเศร้าหรือสุขเกินไปแต่ปล่อยให้มันเป็นไปตามชีวิตปกติมากที่สุด

ชอบการเล่าความเปลี่ยนแปลงของแต่ละตัวละครที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตแตกต่างกันไปกระทั่งพ่อแม่ลูกคนในครอบครัวเดียวกัน แม่ที่จริงจังกับชีวิตเริ่มเรียนป.ตรีป.โทใหม่และเปลี่ยนสามีใหม่ที่เหมือนจะดีทุกครั้งแต่สุดท้ายก็ไม่เคยดี พ่อที่เคยขาดความรับผิดชอบปล่อยวางชีวิตก็ได้มีความสุขกับภรรยาใหม่ ช่างประปาที่ศิวิไลซ์ตัวเองด้วยการศึกษาจนกลายเป็นผู้จัดการร้านอาหาร ครอบครัวธรรมดาๆครอบครัวหนึ่งไปพร้อมกับตัวละครในสังคมแวดล้อมที่เหมือนจะดีแต่ก็ร้ายเหมือนจะร้ายแต่ก็มีเรื่องดีเข้ามา ก่อนที่จะเลวร้ายอีกครั้ง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้ที่จะจริงจังเอาใจใส่ซึ่งมีบ้างที่ต้องปล่อยวางและต้องดิ้นรนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้ 

คิดว่าผู้กำกับก็ต้องมีแผนหนึ่งแผนสองก๊อกสามก๊อกสี่ตลอดการถ่ายทำที่จะทำให้พลิ้วไหวไหลลื่นไปได้เผื่อนักแสดงเกิดอุบัติเหตุล้มหายตายจากหรือเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดคิด ส่วนสนุกอย่างหนึ่งคือการคาดเดาพัฒนาการความเป็นไปของตัวละครนี่แหละ ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหน มีนักแสดงตายแล้วจะจัดการยังไงบ้าง และพอมีเงื่อนไขที่ต้องใช้นักแสดงคนเดิมมันก็ไม่ใช่แค่นักแสดงต้องเปลี่ยนตามตัวละครในหนัง แต่ตัวละครในหนังก็ต้องเปลี่ยนไปตามนักแสดงซึ่งทำให้เกิดเสน่ห์ความกลมกลืนเป็นธรรมชาติ  ทำให้มองมุมกลับย้อนเห็นรายละเอียดของชีวิตตัวละครที่เชื่อมโยงโลกความเป็นจริงคือชีวิตจองนักแสดงได้มากขึ้น

ในหนังส่วนใหญ่มักจะเห็นตัวละครหล่อสวยหรืออย่างน้อยก็น่ารักน่ามองทั้งตอนเด็กและตอนโต กระทั้งตอนแก่ แต่การเติบโตของนักแสดงเรื่องนี้ตั้งแต่ตัวหลักไปจนถึงตัวประกอบมันถูกบังคับให้ปรากฏในหนังไม่ว่ารูปลักษณ์จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด จากตอนเด็กน่ารักสดใสที่พอโตขึ้นเดี๋ยวมีมุมหล่อสวยบ้างเดี๋ยวหน้าใสเดี๋ยวหน้าสิวบ้าง สำหรับเรามันเป็นสิวในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่จริงใจที่สุดและมีความหมายสะท้อนความจริงที่ไม่แน่นอนของชีวิตได้งดงามที่สุด

ปล. คิดตื้นๆ TO'YO'TA ท้ายรถพระเอก YO ที่เหลืออยู่คือ 'Years Old' เปล่าวะ มันเจ๋งที่ว่านอกจากจะเป็นสปอนเซอร์(รึเปล่า?)แล้ว มันยังเป็นการไทอินสินค้าให้มีฟังก์ชั่นในหนังเป็นหนึ่งในโมทีฟ Coming of Age ได้ฉกาจเข้าท่ามากๆ อยากเห็นหนังไทยใช้'ไทยประกันชีวิต'ได้แบบนี้บ้างจัง

สรุปผลวิจารณ์หนัง

บทหนัง
8
การดำเนินเรื่อง
10
ดนตรีประกอบ
8
ฝีมือนักแสดง
8
กราฟฟิก
6
คะแนนเฉลี่ย
8
สมาชิกไทยแวร์เข้าสู่ระบบด้วย
8 กันยายน 2557 14:14:43

Boyhood

Richard Linklater

   

     สิ่งที่งดงามที่สุดในหนังเรื่องนี้คือความเรียบง่ายของเรื่องราวที่มีพล็อตเพียงบางเบา แล้วให้ 'เวลา' เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านฉายภาพบันทึกเหตุการณ์เด็กชายที่ค่อยๆ เติบโตเป็นเด็กหนุ่มกับครอบครัวเล็กๆ แม่ พี่สาว และพ่อผู้ห่างไกล ครอบครัวที่สถานภาพระหกระเหินไปตามเงื่อนไขต่างๆ การเดินทางของเหล่าตัวละครที่ไต่ระยะไปพร้อมเส้นเวลาที่หนังละเอียดอ่อนกับมันเหลือเกิน น่าจะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนซึมซับได้ไม่มากก็น้อยจากหนังเรื่องนี้


     ความพิเศษของหนังเรื่องนี้มีมาตั้งแต่เบื้องหลังของหนังเองที่มีไอเดียทะเยอทะยานด้วยการใช้นักแสดงหน้าเดิมตลอดระยะเวลา 12 ปีที่เกิดขึ้นจริงในหนัง และนี่คือสิ่งที่ผู้กำกับหยิบเอาความพิเศษตรงนี้มาใช้ได้อย่างมีคุณค่ามาก เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวละครที่เติบโตขึ้นหรือโรยราลงไป 12 ปีได้อย่างละเอียด เด็กๆ ที่ค่อยๆ เติบโตทั้งทางกายภาพ และวุฒิภาวะ เช่นเดียวกับตัวละครผู้ใหญ่ที่เราได้เห็นพวกเขาแก่ตัวลงไป โดยที่หนังไม่ระบุวันเวลาของเปลี่ยนผ่านให้เห็นชัดๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงของตัวละครเหล่านี้ช่างกลมกลืนราบรื่นเป็นธรรมชาติราวกับพวกเขาคือคนใกล้ตัวเราที่ผ่านการเปลี่ยนช่วงเวลาก้อนใหญ่ไปด้วยกันอย่างยาวนาน ผลคือความผูกพันที่งดงามของเรากับตัวละครเหล่านั้น

     นอกจากนี้หนังยังเต็มไปด้วย "แลนด์มาร์คทางความทรงจำ" บันทึกเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นจริงในสังคมตลอดระยะเวลา 12 ปีของการถ่ายทำ ตั้งแต่พัฒนาการของเครื่องเล่นเกมส์ของเด็กผู้ชาย ปรากฏการณ์เด็กๆ แห่เข้าคิวซื้อหนังสือแฮรรี่ พอตเตอร์ อัลบั้มเพลง การเลือกตั้ง น่าะเป็นนอสตัลเจียที่ดีสำหรับคนรุ่นที่มีความทรงจำร่วมสมัยกับเหล่าตัวละครอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะวัยรุ่นอเมริกัน เหล่านี้ล้วนช่วยเติมเต็มความเป็น Boyhood ของหนังให้ใกล้ชิดกับคนดูมากยิ่งขึ้น และยืนยันถึงความเป็นหนังบันทึกเวลาที่ยาวนานที่สุดเรื่องหนึ่งในตัวของมันเอง

     ถ้าจะเปรียบเทียบกับหนังทั่วไป สำหรับ Boyhood ความเป็นภาพยนตร์ในแง่ของเทคนิค พล็อต ลายเซ็นผู้กำกับ หรือเทคนิคภาพยนตร์ต่างๆ นานา ถูกซ่อนไว้เบื้องหลังเท่านั้น เพราะหนังนำเสนอภาพชีวิตและช่วงเวลาเป็นตัวขับเคลื่อนหนัง เค้าหน้า รูปร่าง ความคิด ทัศนคติ ไปจนถึงสถานภาพที่เปลี่ยนไปของตัวละคร มีส่วนในการเล่าเรื่องสูงมาก การปรุงแต่งทางเทคนิคภาพยนตร์เพียงเล็กน้อยเป็นเอาท์ไลน์กว้างๆ ทำให้หนังฉายภาพชีวิตให้เราสัมผัสได้ราวกับตัวละครเหล่านั้นมีชีวิตจริงๆ 

     ท้ายที่สุดแล้ว Boyhood อาจจะไม่ได้อยู่ในฐานะของหนังเล่าเรื่องที่คนดูทั่วไปคุ้ยเคย ในแบบที่มีคอนฟลิกบีบคั้น จุดไคล์แมกซ์เร้าอารมณ์ หรือบทสรุปที่เด็ดขาดรวบยอด แต่ถ้าลองเปิดใจและซึมซับหนังในแบบที่มันเป็นและพยายามจะถ่ายทอด เชื่อว่าจะสัมผัสความงดงามของหนังที่ละเอียดอ่อนที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งปีนี้ได้ไม่ยากนัก และอิ่มเอมใจได้ไม่แพ้กัน

 

สรุปผลวิจารณ์หนัง

บทหนัง
8
การดำเนินเรื่อง
10
ดนตรีประกอบ
8
ฝีมือนักแสดง
8
กราฟฟิก
2
คะแนนเฉลี่ย
7.2
สมาชิกไทยแวร์เข้าสู่ระบบด้วย

ความคิดเห็น (0)