อาปัติ - Arbat
หนัง Arpat หรือชื่อไทยว่า อาปัติ ภาพยนตร์ผีระทึกขวัญ ผลงานสร้างเรื่องล่าสุดของ “สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล” และ “บาแรมยู” เขียนบทและกำกับโดยผู้กำกับหญิงหน้าใหม่น่าจับตามอง “ฝน-ขนิษฐา ขวัญอยู่” (หนังสั้นเรื่อง “เวลา...รัก” ของเธอเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่อง “ความจำสั้น แต่รักฉันยาว”) “ซัน” เด็กหนุ่มวัย 19 ปีผู้เอาแต่ใจตนเอง ไม่สนใจใคร และใช้ชีวิตคึกคะนองอย่างสุดขั้ว เขาจึงถูกพ่อบังคับให้มาบวชเณรเพื่อดัดนิสัย การบวชอย่างไม่เต็มใจ ไร้ศรัทธา และด้วยความรู้สึกที่ไม่เข้าใจว่าตนเองทำผิดอะไรนักหนา จึงทำให้ซันยังคงใช้ชีวิตเหมือนปกติทั่วไปแม้จะอยู่ในผ้าเหลืองแล้วก็ตาม รวมถึงการแอบคบหากับ “ฝ้าย” สาววัยรุ่นท้องถิ่นผู้โหยหาในความรัก
ซึ่งเหมือนเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเดียวที่ทั้งคู่มีให้แก่กันและเชื่อมั่นว่าไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ทุกการกระทำที่ท้าทายการอาบัตินี้ ทำให้เณรซันต้องเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ลึกลับชวนขนหัวลุกที่ถูกปกปิดไว้ภายในวัด ทั้งเรื่องราวความสัมพันธ์ของสีกากับพระ, การเผชิญหน้ากับผีเปรตที่ตามมาขอส่วนบุญและทวงคืนชีวิตที่ต่างเชื่อมโยงกันอย่างคาดไม่ถึง รวมทั้งความผิดที่เขากำลังวิ่งหนี ก็เข้ามาตอกย้ำให้เขาต้องชดใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นตามสนอง
อาปัติ (ขนิษฐา ขวัญอยู่ / Thailand / 2015)
ถึงหนังจะเรื่อยๆ ความสนุกกับการสะดุดจะปนเปกันไปอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็ยังมีฉากหนึ่งที่ชอบมากๆๆๆ อยู่
ขอข้ามคำเตือนและจุดจบด้วยเท็กซ์คำบรรยายที่เหมือนคนทำหนังถูกสั่งให้ใส่เข้ามาเพื่อให้ผ่านฉายไปเลยนะ หนังรวมๆ รู้สึกว่าถึงจะมีช็อตฉากครบเท่าที่ถ่ายที่ตัดกันไว้ในฉบับก่อนแก้เพื่อให้ผ่านฉายได้เนี่ย หนังมันก็ไม่น่าจะดีขึ้นกว่านี้สักเท่าไหร่ แต่มันจะดีขึ้นได้แน่ๆ โดยเฉพาะส่วนพัฒนาการความสัมพันธ์ของเณรซัน กับ ฝ้ายที่มันยังกระโดดเกินไปหน่อยเรายังไม่ได้เห็นไข่พะโล้ ยังไม่ได้เห็นจุดเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่มันชัดเจนจริงๆ เลย ซึ่งส่งผลทำให้ฉากดราม่าระหว่างเณรกับสีกาสาวอารมณ์มันเรียบแบนมากๆ
แต่ที่ว่ามันไม่น่าจะดีขึ้นเท่าไหร่ก็เพราะว่าจุดสำคัญของเรื่องอย่างฉากไคลแม็กซ์ก็ยังงงๆ ไปมาอยู่ กับตรรกะมิติแฟลชแบ็กเล่าย้อนและคลี่คลายความสัมพันธ์ของผีกับคน รวมถึงพื้นที่และเวลาในหลายๆ สถานการณ์มันไม่เมคเซนส์ แต่ส่วนตัวชอบพล็อตความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเหล่านี้นะ โอเคเลย..น่าติดตามด้วย แต่บทกับการกำกับมันไม่กลมเกลาน่ะจุดจะให้เกิดโต้งๆ ก็โต้งๆ มาเลย พอจะซ่อนบางอย่างก็มิดชิดไปหน่อยทำให้พอเฉลยมันไม่เกิดอารมณ์ร่วมในความเคลือบแคลงเท่าที่ควร..แบบพอเฉลยแล้วมันไม่ได้อ๋อ..อย่างนี้นี่เอง แต่เป็น อ้าว! เป็นงี้เหรอ..กับจุดใหญ่ๆ มากกว่าน่ะ เสียดายเรื่องแสงกลางคืนด้วยมันชัดเกินไปจนดูหลอกๆ ละครไปในบางที แล้วก็เสียงเอ็ฟเฟ็กต์สกอร์ดนตรีประกอบที่ใช้ได้พร่ำเพรื่อมากๆ จนน่ารำคาญ
สำหรับการแสดง แน็ก ดูดร็อปนะ ซึ่งคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากการกำกับ ยิ่งเมื่อเทียบกับบทดราม่าอย่าง เด็กหอ (นานไปมั้ย!!?)กับ ห้าแพร่ง (เพิ่งรู้ว่าแน็คเปลี่ยนนามสกุลเป็น ชาตรี ปอทเจส หรือเป็นชื่อกลางชื่อสร้อยยังไง?) นี่ห่างกันมากพอสมควร คนอื่นอย่าง สรพงษ์ ชาตรี, กิก-ดนัย, หนุ่ม-อรรถพร ก็เสมอตัวนะคือโอเคดีแหละ น้องพลอย นางเอกก็น่ารักดี แต่ก็ดร็อปกว่าที่คาดหวัง คือหนังไม่ได้เปิดช่องให้ทุกคนได้โชว์อะไรมากกว่าแต่ละคนก็ได้เล่นไปในทางเดียวกันแทบทั้งเรื่อง แต่จากบารมีอาเอกแกคงได้เข้าชิงสมทบชายปลายปีนี้แน่ๆ แต่ชอบ พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ จังเลย น่าจะได้ได้ทำอะไรมากกว่าเป็นผี แต่ดราม่าตอนเป็นคนดอกเดียวนั่นก็ดีมากๆ นะ (ทำไมนักแสดงไทยดีๆ ไม่มีหนังบทดีๆ ให้เล่นกันเยอะๆ บ้างนะ)
ส่วนทิศทางการจบก็รู้ๆ กันอยู่คงไม่ต้องพูดถึง แต่ที่งงอยู่(คนเดียว)ในตอนจบคือผีเด็กผู้หญิงกระโปรงแดงที่วิ่งตามเณรซันนั่นใครวะ?(ไม่ถือว่าสปอยล์นะเพราะก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ตรรกดีมั้ย..ฮ่าๆ) แต่เฮ้ย..มันมีฉากหนึ่งที่ Subtext แรงมากๆ แล้วน่าจะแรงกว่าทุกๆ ฉากที่หั่นออกเลยนะ ไม่รู้ว่าตั้งใจแค่ไหน แน่นอนแหละว่าการที่มีคนวิ่งมาปัดบาตรพระจนบาตรหล่นกระจายแล้วนั่งเปิบกินข้าวบาตรตรงนั้นเนี่ย คนพุทธกำลังทำบุญตักบาตรจิตใจผ่องใสก็ต้องโกรธเป็นธรรมดาชิป่ะ มันก็ต้องมีน้ำโหโชว์ความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีต่อหน้าพระหน้าเจ้าบ้างล่ะ แต่คนที่โดนยำตีนเนี่ยมันเป็นคนบ้าที่ตามบริบทแล้วชาวบ้านก็น่าจะรู้จักดี พระก็รู้ดี ทั้งสองก็น่าจะชั่งใจและห้ามปรามกันได้ไวกว่านี้ คงไม่ปล่อยให้คนบ้าถูกรุมซ้อมขนาดนั้น ซึ่งในส่วนบทและการกำกับแวบแรกจะรู้สึกตะหงิด แต่ความรู้สึกบางอย่างในสถานการณ์นี้กลับผุดขึ้นมาเบ่งบานราวกับดอกบัวพ้นน้ำ
ข้อ 2 สปอยล์สุดๆ*** 1. มันสะท้อนชาวบ้านพุทธแต่เปลือก เปลือกไม่ปลงแถมยังคลั่ง การที่ชาวบ้านรุมยำคนบ้า นั่นคือสิ่งที่คนบ้าสมควรได้รับในมุมมองของพวกเขา และสิ่งนั้นคือบุญซึ่งชาวบ้านรู้สึกว่าได้ชำระให้แก่พระสงฆ์ สังเกตได้จาการที่ผู้กำกับหน่วงเวลาให้คนบ้านั่งแทะข้าวไปชั่วครู่ ก่อนที่ชาวบ้านจะฉุกคิดได้กับสิ่งที่สมควรทำและกรูเข้ามาทำร้าย เหมือนกับจะบอกว่ามันไม่ใช่สัญชาตญาณหากแต่เป็นความคิดตรอง รวมถึงการเสิร์ฟความรุนแรงที่เริ่มด้วยการเอาบาตรฟาดคล้ายกับเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งถ้าตัวละครมองด้วยมนุษธรรม หลักคำสอนศาสนาพุทธ รวมถึงเหตุและผลแล้ว การรุมประชาทัณฑ์ก็คงไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ
2. ลูกที่ยังเคียดแค้นพ่อ ยังรู้สึกว่าสิ่งที่พ่อโดนนั้นเหมาะสมในบาปกรรม ไม่เช่นนั้นลูกก็คงไม่ทนดูตั้งแต่พ่อโดนชาวบ้านเอาบาตรตัวเองฟาดหัวเลือดแตกไปจนปล่อยให้ชาวบ้านอีกคนวิ่งมารุมกระทืบ คงจะขอบิณฑบาตเร็วกว่านั้น และสายตาที่มองพ่อนอนร้องระงมนั้นมันไร้ความสงสารเห็นแต่เพียงความเวทนา
สรุปผลวิจารณ์หนัง