Pe-Chai - พี่ชาย
เข้าฉาย 16 กรกฎาคม 2558
ผู้ชม : 6,801
ผู้กำกับ
: Josh Kim
ความยาวหนัง
: 80.00
Text Size
หนัง Pe-Chai หรือชื่อไทยว่า พี่ชาย เอก และ โอ๊ต เป็นสองพี่น้องที่เติบโตมาโดยกำพร้าพ่อและแม่จึงอาศัยอยู่กับป้า สองพี่น้องผูกพันกันมาก เมื่อเอกต้องไปเป็นทหารเกณฑ์และจากบ้านไป โอ๊ตจึงต้องใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ตามลำพัง ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่แสดงความผูกพันระหว่างสองพี่น้องที่ไม่มีอะไรสามารถขวางกั้นได้ ประเด็นที่น่าสนใจของภาพยนตร์ คือการนำเสนอตัวละครหลากหลายทางเพศ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความสมานฉันท์อย่างปกติสุข, นำเสนอความผูกพัน ความรัก และความเสียสละ ระหว่างพี่ชายกับน้องชาย และสร้างการตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ ทั้งในด้านเพศสภาวะและ เพศวิถี ประเทศที่สร้าง : ไทย
เรื่องราวของโอ๊ต ชายหนุ่มในวันที่เขาต้องเดินทางกลับบ้านเพื่อจับใบดำ-แดงคัดเลือกเข้าเกณฑ์ทหาร เขานึกหวนถึงความสัมพันธ์ของเขากับ เอก พี่ชายของเขา ในวันที่เขายังอยู่ในวัยเด็กและพี่ชายกำลังจะต้องเข้ารับการคัดเลือกทหารเกณฑ์ โดยที่สภาวะการเป็นเด็กกำพร้าโตมากับป้าที่เลี้ยงดูได้แค่ตามมีตามเกิด และเอกต้องช่วยทำงานหาเงินดูแลโอ๊ตอีกแรง ทำให้ชะตากรรมในวันเสียงดวงจับใบดำ-แดง ของเอกวันนั้นสำคัญกับชีวิตของโอ๊ตและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หนังมีเส้นเรื่องแต่เพียงบางเบา ผ่านฝีการเล่าง่ายๆ ด้วยภาษาภาพยนตร์ที่มีเสน่ห์น่าติดตาม เราถูกหนังพาไปสัมผัสความสัมพันธ์ของพี่ชายกับน้องชายที่อบอุ่น เต็มไปด้วยความรักและสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลง เจ็บปวด เรียนรู้และเติบโต โดยมีหมุดหมายสำคัญตรงที่ผลการเกณฑ์ทหารของเอกอันจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อทุกตัวละคร จะเป็นปมขัดแย้งที่เปิดให้ประเด็นหลายๆ อย่างเข้าปะทะสังสรรค์กันเหมือนในชีวิตจริง ทั้งความเชื่อ อำนาจรัฐ อุดมการณ์ชาติ การคอรัปชั่น ไปจนถึงเรื่องเรียบง่ายพื้นฐานที่สุดอย่างความสัมพันธ์ของคนในสถาบันครอบครัวในวันที่คนๆ หนึ่งต้องจากบ้านไป ความสัมพันธ์ของพี่กับน้องที่ไม่อาจเลือกที่จะอยู่ด้วยกันต่อไป
น่าสนใจที่ถึงแม้ในตัวหนังจะแฝงประเด็นน่าขบคิดและลักลั่นหลายๆ อย่างที่เป็นวัตถุดิบของการเสียดสีสังคมได้ แต่หนังกลับดำเนินเรื่องรักษาเส้นชีวิตตัวละครไม่ให้กลายเป็นเพียงตัวแปรรับใช้ หรือวิพากษ์อุดมการณ์ข้างใดข้างหนึ่งเป็นหลัก หนังไม่ได้พยายามทำตัวเชิดชูหรือต่อต้านอุดมการณ์ใดๆ จนลดทอนเรื่องราวเรียบง่าย ชะตาชีวิตของตัวละครเพียงแค่ถูกเล่าไปตามความเป็นจริง ถ้ามันจะเจ็บปวดขมขื่นหรือให้เกิดความรู้สึกพิเศษใดๆ นั่นก็เพราะความจริงเป็นเช่นนั้น
แม้หน้าหนังจะถูกบอกเล่าตีตราว่าเป็น “หนังเกย์” อันเป็นการจำกัดพฤติกรรมและค่านิยมของผู้ชมไทยที่ยังไม่มีวัฒนธรรมการดูหนังที่เปิดกว้างเท่าไหร่นัก กลายเป็นว่าหนังเกย์ก็ถูกดูโดยกลุ่มคนดูเกย์ด้วยกันเป็นหลัก แต่เป็นที่น่าสนใจว่าในหนังเรื่องนี้เราสามารถซึมซับความเป็นมนุษย์ที่มีชะตากรรมพันผูกกับความรัก ความผูกพัน ความเจ็บปวด ได้อย่างสากลและย่อยง่ายมากๆ เพราะเราต่างเป็นมนุษย์ที่พบเจอสิ่งเหล่านี้ได้เหมือนๆ กัน ถึงที่สุดแล้วรสนิยมในการดูหนังเป็นเรื่องซับซ้อนและยุ่งยากที่จะตัดสินชี้นำกัน เพราะที่สุดแล้วมันอาจไม่ใช่เรื่องของการผนวกรวมไปเสียทุกอย่าง บางทีความแตกต่างก็เติบโตแตกกิ่งก้านไปตามทางและมีชีวิตของมันเอง เหมือนๆ กับเหล่าตัวละครในหนังเรื่องนี้ที่ซึ่งช่างเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตที่สัมผัสและช่างเป็นประสบการณ์ที่เอิบอิ่มงดงามที่ได้ดู
สรุปผลวิจารณ์หนัง