0 Southpaw+-+%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94

Southpaw - สังเวียนเดือด

เข้าฉาย 23 กรกฎาคม 2558
ผู้ชม : 8,724
ผู้กำกับ : Antoine Fuqua
ความยาวหนัง : 123.00
Text Size

หนัง Southpaw จากผลงานการกำกับของ Antoine Fuqua ผู้กำกับมือรางวัล และ ดารานำแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ Jake Gyllen Haal มาในเรื่องของ Southpaw บทบึกชีวิตดราม่า ของ บิลลี่ ภาพยนต์บอกเล่าเรื่องราว ที่เกี่ยวกับโศกนาฏกรรม การสูญเสีย และ เส้นทางแห่งความเจ็บปวดอดีตแชมมวยสากล ในรุ่น จูเนียร์ มิดเดิ้ล ต้องพบกับฝันร้ายเมื่อต้องสูญเสียภรรยาและ ทำให้เขา กลายเป็นคนที่ติดยาเสพย์ติด และแอลกอฮอร์ จนบ้านถูกยึด และลูกสาว ถูกส่งไปอยู่ สถานสงเคราะห์เขาจะต้อง ต่อสู้อีกครั้ง เพื่อ นำลูกสาวกลับคืนมา

รีวิววิจารณ์หนัง (0)

31 กรกฎาคม 2558 16:09:03

Southpaw (Antoine Fuqua / USA / 2015)

นานทีจะมีหนังนักมวยมาให้ดู  ถึงส่วนใหญ่หนังกีฬาฝั่งฮอลลีวูดจะเป็นหนังดราม่าหรือไม่ก็หนังชีวประวัติซึ่งร้อยทั้งร้อยก็เป็นแนวดราม่ารันทดอดสู้อีกนั่นแหละ  หนังกีฬาอื่นๆ ก็หนีไม่พ้นแนวนี้เหมือนๆ กัน  คือไม่ค่อยได้ถูกผลักดันให้สร้างเป็นแนวแอคชั่นเอามัน  หรือออกแนวแฟนตาซีคอเมดี้ให้ชวนหัวและผ่อนคลายบ่อยนัก  ต่างจากหนังฝั่งเอเชียที่พอจับกีฬามารวมกับแนวคอเมดี้แล้วจะเข้าท่ามากกว่า  พอนึกเร็วๆ ในหัวก็มีหนังญี่ปุ่นอย่าง Sumo Do, Sumo Don't (Masayuki Suo / 1992), Waterboys (Shinobu Yaguchi / 2001), Tug of War! (Nobuo Mizuta / 2012) ที่ตลกผ่อนคลายผสมเรื่องราวการแข่งขันกีฬาได้สนุกน่าติดตาม  หนังเกาหลีอย่าง Mr. Go (Yong-hwa Kim / 2013) ก็เป็นหนังเด็กหนังครอบครัวที่มีความแฟนตาซีได้น่ารักพอตัว  Shaolin Soccer นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่ (Stephen Chow / 2001) จากฝั่งฮ่องกงก็ตลกแฟนตาซีฮาท้องคัดท้องแข็ง  มาจนถึงหนังตลกไทยที่สร้างจากเรื่องจริง อย่าง สตรีเหล็ก (ยงยุทธ ทองกองทุน / 2000) รวมถึงหนังกีฬาตลกไทยเรื่องอื่นๆ เช่น  หมากเตะรีเทิร์นส์ (อดิสรณ์ ตรีเกษม / 2006) และ ดรีมทีม (กิตติกร เลียวศิริกุล / 2008)  จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับขนาดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใหญ่ยักษ์อย่างฮอลลีวูดแล้ว  หนังกีฬาตลกผ่อนคลายฝั่งฮอลลีวูดในความทรงจำตอนนี้มันช่างนึกออกยากเสียเหลือเกิน  แต่ยังดีที่อย่างน้อย Balls of Fury (Ben Garant / 2007) ก็แล่นเข้ามาในหัว

ด้วยความที่ชีวิตจริงในโลกนี้ก็มีเรื่องให้เครียดมากพอแล้วทำให้เงินพุ่งเข้าหาหนังตลกสนุกด้วยแอคชั่นเว่อร์วังอลังการที่ผ่อนคลายระบายความเศร้ามากกว่าหนังเนื้อดีขยี้ชีวิตจริงของคน  ซึ่งสำหรับกลุ่มคนจำนวนมากในทุกวันนี้คำว่าหนังดราม่ายังคงเท่ากับหนังชวนง่วง  หนังกีฬาดราม่าจึงดึงดูดตลาดคนหมู่มากไม่ค่อยจะได้ก็เลยถูกมองเป็นหนังดูยากของขาแมสตลาดจ๋ากลุ่มทำเงิน  ถึงบางเรื่องจะทำรายได้ทั่วโลกมหาศาลแต่หนังหลายเรื่องก็ต้องลุ้นแทบเยี่ยวเล็ด   จนหนังกีฬาดราม่าฝั่งฮอลลีวูดในทุกวันนี้ถูกประทับตราให้กลายเป็นหนังหวังกล่องรางวัลตั้งแต่ประกาศสร้างไม่แพ้หนังการเมือง  แต่หลายเรื่องก็ประสบความสำเร็จและเป็นที่พูดถึงอย่างมาก  อย่าง  Rocky (John G. Avildsen / 1976), Raging Bull (Martin Scorsese / 1980), Million Dollar Baby (Clint Eastwood / 2004), The Wrestler (Darren Aronofsky / 2008), The Fighter (David O. Russell / 2010), Warrior (Gavin O’Connor / 2011), Rush (Ron Howard / 2013) และสองผลงานล่าสุดของผู้กำกับจอมสันทัดหนังชีวประวัติ Bennett Miller กับ Moneyball (2011) และ Foxcatcher (2014) ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นหนังสำรวจล้วงลึกตัวละครที่ดีและหลายเรื่องก็เข้าขั้นกระเทาะความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ  โดยเฉพาะบทภาพยนตร์  การแสดง  และการกำกับ  ถือเป็นหนึ่งในหนังประเภทที่ท้าทายผู้กำกับและนักแสดงเป็นอย่างมาก  และผลก็คือหนังมันมีพลังมากพอที่จะส่งให้เข้าชิงรางวัลในเวทีใหญ่ๆ   ซึ่ง Southpaw ก็เป็นหนังกีฬาเรื่องล่าสุดในจำพวกนี้ที่ดูก็รู้ว่า‘กู’ก็หวัง

รู้จัก Antoine Fuqua ผู้กำกับจากหนังแอคชั่นโด่งดังเรื่อง Training Day (2001) และหนังแอคชั่น(เช่นเคย)เรื่องล่าสุดของเขาที่ได้ดูเมื่อปีที่แล้วอย่าง The Equalizer (2014)  มาคราวนี้น่าสนใจดีที่ผู้กำกับขาบู๊จะมาเล่าเรื่องราวชีวิตดราม่านักกีฬาบ้าง  ถึงแม้โครงสร้างบทจะไม่ได้มีมุมใหม่อะไรให้ประหลาดใจและเรื่องราวมันก็ไม่ได้เกินความคาดหมายอีกทั้งยังเล่าเรื่องไปตามสเต็ปหลักของหนังสูตรอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับหนังกีฬาดราม่าหลายเรื่องที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้  มันยังไม่มากพอที่จะส่งให้ผู้กำกับได้แผงฤทธิ์มากไปกว่าการที่ทำให้หนังดราม่าเรื่องหนึ่งนำพาตัวละครนักมวยซูเปอร์สตาร์ตกอับไปถึงฝั่งให้ได้  และดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นไปทั้งเรื่องจริงๆ แต่เพราะด้วยการกำกับการแสดงที่หินมากขึ้นจากหนังแอคชั่นเรื่องก่อนๆ  ทำให้ผู้กำกับมีช่องให้โชว์ฝีมืออยู่บ้าง  Antione Fuqua กำกับฉากชกมวยได้สนุกมากๆ มีความเป็นสนุกแบบแอคชั่นและลุ้นระทึกแบบทริลเลอร์  ให้ความตื่นเต้นและเขย่าขวัญในเวลาเดียวกัน  ถึงแม้ว่าความดีงามส่วนหนึ่งของช็อตและฉากเหล่านี้ต้องแบ่งให้ผู้กำกับภาพและคนลำดับภาพด้วยก็ตามที

นอกจากนั้นลักษณะตัวละครหลักก็ยังน่าติดตามแล้วยิ่งเมื่อได้รวมกับสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในหนังซึ่งก็คือการแสดงของ Jake Gyllenhaal ที่ยังคงหยั่งลึกและถ่ายทอดลักษณะตัวละครได้น่าเชื่อและน่าติดตาม  ส่วนตัวแล้วชอบและรู้สึกเข้าถึงมากกว่าใน Nightcrawler (Dan Gilroy / 2014)  ที่คาแร็กเตอร์ดูจัดเกินไป  แต่ในเรื่องนี้พี่เจคแกนำพาสถานการณ์ชีวิตที่น่าสมเพช  เวทนากับความพลาดพลั้งแล้วนำมาซึ่งการสูญเสียและความเจ็บปวดได้ถึงอารมณ์มากๆ  โดยเฉพาะเอ็ฟเฟ็กต์อาการกระทบกระเทือนทางสมองจากการชกมวยที่สื่อทางน้ำเสียง  สายตา และบุคลิกร่างกายได้สมจริงมากๆ  ช่วยให้บทในแต่ละฉากที่ยังดูเรียบราบซ้ำซากให้มีมิติมากขึ้นไปอีก  ส่วน Rachel McAdams ยังคงงดงามเสมอ  เช่นเดียวกับ Forest Whitaker ที่ยังให้การแสดงที่ทรงพลัง

ถึงแม้ Southpaw ดูเหมือนจะไปไม่ถึงฝั่งฝันในเวทีออสการ์อย่างที่มีแปะไว้บนโปสเตอร์หน้าโรง  แต่จริงๆ แล้วยังเหลือ Jake Gyllenhaal ไว้เป็ความหวังเดียวอยู่  และถึงจะชวดโอกาสนี้ไป...อย่างน้อย Southpaw ก็ยังเป็นหนังกีฬาดราม่าที่ฉากกีฬาสนุกมากที่สุดเรื่องนหนึ่ง  และบางส่วนอย่างการดิ้นรนของพ่อนักมวยตกอับที่ต้องต่อสู้กับชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ให้ลูกสาวเห็น  ในกระบวนการยุติธรรมที่คุ้มครองมนุษย์แต่ในขณะเดียวกันมันก็เหมือนพรากความผูกพันระหว่างพ่อลูกไปชั่วขณะมันกระอักกระอ่วนได้พองามดี  เมื่อรวมกับการแสดงที่เยี่ยมยอดและฉากชกมวยลุ้นระทึกมันก็เพียงพอแล้วล่ะที่จะต้องไม่พลาดตีตั๋วเข้าโรงไปดู

ปล. Rita Ora นี่ก็เซอร์ไพรส์

สรุปผลวิจารณ์หนัง

บทหนัง
7
การดำเนินเรื่อง
7.5
ดนตรีประกอบ
7
ฝีมือนักแสดง
10
กราฟฟิก
7
คะแนนเฉลี่ย
7.7
สมาชิกไทยแวร์เข้าสู่ระบบด้วย

ความคิดเห็น (0)

หนังภาพยนตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง