ฉลุย แตะขอบฟ้า - CHA LUI TAE KHOB FA
หนัง Cha Lui Tae Khob Fah หรือชื่อไทยว่า ฉลุย แตะขอบฟ้า โต้ง กับ ป๋อง สองอันเดอร์ด็อก ที่เป็นคู่ซี้ที่มีดนตรีอยู่ในหัวใจ แต่ที่ทั้งคู่ยังไม่มีคือ เงิน และต้นทุนทางสังคมอื่นๆ นอกจากความฝันอันแสนไกลที่ยังไม่เคยไปถึง จึงเป็นชีวิตที่แม้แต่หมายังไม่อยากมอง ทั้งคู่อยากเป็นนักร้องนักดนตรี อาชีพที่พวกเขารักและหลงไหล ซึ่งทั้งคู่ก็พยายามอยู่หลายครั้งหลายวิธี แต่ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามแค่ไหน ความพยายามก็ยังเป็นแค่ความพยายาม ความฝันก็ยังเป็นได้แค่ความฝันเมื่อโต้งป๋องต้องมาเจอกับอีเจ๊สลายฝันเจ้าของคอนโดฯที่มาตามทวงค่าเช่าห้องที่ติดค้างทุกวันๆ ทำให้ความฝันที่มีเหลืออยู่น้อยนิดของโต้งป๋องลดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยความมั่นใจแต่ไปไม่เป็น พอท้งคู่ไปเสนองานที่ไหนก็จะถูกไล่ออกมาเหมือนหมูเหมือนหมาทุกครั้งจะทำอะไรก็ดูผิดพลาดไปซะหมด คนมันอันเดอร์ด็อกก็มักจะซวยซับ ซวยซ้อน ซวยซ่อนเงื่อนอย่างนี้แหละครับจน
วันหนึ่งขณะที่ทั้งคู่ท้อแท้หมดกำลังใจที่จะไล่ล่าตามหาความฝันที่ไม่เคยเป็นจริงอีกต่อไป เกิดเป็นผักยังมีความฝันว่าจะได้เจอน้ำ เพื่อเติบโตและงดงาม เกิดเป็นคนทั้งทีก็อย่าให้อายผัก คนเราถ้าไม่มีความฝันแล้วจะอยู่ไปเพื่ออะไร นอกจากความฝันแล้ว พระเจ้าก็ยังมอบความรักให้มาเป็นพลังใจอีกด้วย โต้งป๋องบังเอิญไปปิ๊งปั๊งกับ ตุ๊กตา สาวน้อยหน้าใสคนหนึ่งที่เพิ่งย้ายมาอยู่ในซอยใกล้ๆกัน ทำให้ชีวิตของโต้งป๋องกลับมามีสีสันมีแรงบันดาลใจอีกครั้ง ทั้งคู่หันหลังให้ความฝัน แล้วเดินหน้าเข้าใส่ความรัก โต้งป๋องสลับกันทำความรู้จักและแย่งกันจีบตุ๊กตา จนเมื่อความรักของพวกเขาจะพอมีความเป็นไปได้ ทั้งคู่ก็ต้องเจอกับอุปสรรคชีวิตอีกครั้งซันชายน์ หนุ่มคู่แข่งที่หน้าตาก็ไม่ได้หล่อหรือดูดีกว่าโต้งหรือป๋องสักเท่าไหร่เลย แต่ปัญหาคือ ซันชายน์ดันเป็นนักร้องดาวรุ่งจากเวที AF ที่สาวๆ กำลังกรี๊ดกันทั้งเมือง
และสาวตุ๊กตาก็ดูเหมือนจะไม่ยอมตกกระแสนี้ด้วยเช่นกันเมื่อรู้ว่าสาวตุ๊กตาชอบศิลปินและเสียงเพลง โต้งป๋องตัดสินใจหวนกลับไปหาความฝันเดิมอีกครั้ง เพื่อตุ๊กตา พวกเขาจะต้องเหนือกว่าไอ้หนุ่มซันชายน์ให้ได้ โดยมี พี่ตึ๋ง หลานอีเจ๊สลายฝัน เพื่อนรุ่นพี่ที่มีความฝันอยากจะเป็นผู้จัดการศิลปินชื่อดังเหมือนกับเอศุภชัย ให้คำแนะนำว่า พ.ศ.นี้ถ้าจะให้โดนใจสาวๆก็ต้องเคป๊อบเท่านั้น และเคป๊อบของแท้ก็ต้องไปแจ้งเกิดที่เกาหลีด้วยพี่ตึ๋งบอกว่าถ้าอยากได้ตุ๊กตา ก็ต้องไปเป็นศิลปินที่เกาหลี เหมือนกับ นิชคุณ ศิลปินเคป๊อบไทยที่ไปสร้างชื่อในเกาหลีจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทั้งเอเชีย โต้งป๋องถึงกับอึ้ง ลำพังแค่จะหาเงินกินเกาเหลาสักชามยังลำบาก จะให้ไปเกาหลี เอาอะไรคิดครับพี่ พี่ตึ๋งแนะ ถ้าพวกมึงมัวนั่งคิดนอนคิด ความฝันก็คือความฝัน แต่ถ้าพวกมึงลงมือทำ ความจริงก็คือความจริงเว้ย ถ้ายอมรับความจริงไม่ได้ มึงก็อยู่กับความฝันไปจนตายแหละ
ด้วยบุญบารมีและความสามารถของพี่ตึ๋งที่แจ๊คพ๊อตไปได้เงินมาก้อนหนึ่ง ทำให้โต้งกับป๋องมีโอกาสบุกไปถึง CJYP ค่ายดนตรีค่ายยักษ์ในเกาหลี แถมยังได้เจอกับนิชคุณที่นั่นอีกด้วย โต้งป๋องได้รับน้ำใจและกำลังใจจาก นิชคุณ ซึ่งเป็นไอดอลของพวกเขาไปเต็มๆ สู้ๆครับความฝันอยู่อีกไม่ไกล แต่ความบรรลัยมักจะมาถึงก่อน โต้งป๋องทำเงินและพาสปอร์ตหาย อะไรที่ไม่คิดฝันว่าจะเจอก็ได้เจอ ทั้งฝันดีฝันร้าย ทั้งเจอโจร เจอตำรวจ เจอแท็กซี่ เจอนักดนตรี เจอลุงๆป้าๆ เจออาม่า และอีกสารพัดเจ๊ๆเฮฮาปาจิงโกะเพราะความจริงมันไม่ง่ายเหมือนความฝัน โต้งป๋องต้องเจอกับสารพัดปัญหาและเรื่องราวผิดที่ ผิดทาง ผิดวัฒนธรรม จนถึงขั้นผิดใจกันเองเมื่อทั้งคู่ดันไปเจอกับ มีฮา สาวเกาหลีน่ารักคนหนึ่งที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายกับ ตุ๊กตา สาวที่ทั้งคู่เคยขับเคี่ยวแย่งจีบกันอยู่ มีฮา โผล่มาสร้างความสดใสและความสับสนให้กับโต้งป๋อง ว่าจะตุ๊กตาหรือมีฮากันดีเรื่องราวความรัก และความฝัน ของโต้งและป๋อง กับตุ๊กตาหรือมีฮา จะออกหัวหรือก้อย จะรอดไม่รอด จะจบลงยังไง และที่ตรงไหน โปรดติดตาม 4 มิถุนานี้ ทุกโรงภาพยนตร์
ฉลุย แตะขอบฟ้า (สุชาติ มัฆวิมาลย์, อดิเรก วัฏลีลา / Thailand, South Korea / 2015)
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายังไม่มีหนังไทยตลาดๆ เอาใจคนดูหมู่มากที่มันดังเปรี้ยงดังปังสักที หลายๆ เรื่องที่มีวี่แววว่าน่าจะรุ่งก็ไปได้ไม่ถึงไหน เก็บรายได้หลังแบ่งครึ่งต่อครึ่งกับโรงฉายแล้วได้ติดมือกลับบ้านแค่น้อยนิดพอให้ติดเล็บขบไม่คุ้มทุนเสียด้วยซ้ำ แถมด้านคำวิจารณ์และเสียงชื่นชมก็ไม่เป็นเอกฉันท์ไปในทางนิยมชมเชยสักเท่าไหร่ ทั้ง Single Lady (ธนกร พงษ์สุวรรณ) จากค่าย Transformation Films ที่ถึงจะดูสนุกเรื่อยๆ ได้อยู่แต่หลายๆ ทัศนคติในหนังยังลุ่มๆ ดอนๆ ไม่กลมกลึงแถมหนังยังยาวเหยียดเกินหนังไทยทั่วไปจนจำนวนรอบมีจำกัดมากขึ้น ตามมาด้วย 2538 อัลเทอร์มาจีบ (ยรรยง คุรุอังกูร) ค่าย Mono Film ที่ตั้งใจเจาะกลุ่มวัยรุ่นด้วยหนังโรแมนติกเฮฮาซึ้งๆ ใสๆ เอาใจตลาดด้วยการจับกลุ่มวัยรุ่นยุคปัจจุบันมัดรวมกันกับอดีตวัยรุ่นจากยุคฮิตแห่งดนตรีแนวทางเลือก แต่ก็ไม่เห็นว่าวัยไหนๆ จะแห่แหนมาดูกันเท่าที่คาด ทั้งที่หนังเรื่องนี้มีส่วนดีงามและน่าสนใจมากๆ เสียดายแค่ว่าโดยรวมยังไม่ใช่หนังที่ดีพอ โดยเฉพาะตอนจบที่ฆ่าตัวหนังตายอย่างอนาจ และ ผีห่าอโยธยา (ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล) ของ สหมงคลฟิล์ม ที่ถึงแม้หนังมันจะไม่ได้ดีเด่อะไร แต่ก็ดูสนุกได้ประมาณนึง กระแสช่วงแรกๆ ของข่าวคราวก็ดูเหมือนว่าคนดูจะสนใจ แต่ไม่รู้ว่าเพราะพิษดราม่าค่ายหนังก่อนหน้านั้นหรือเปล่าที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไม่ไปตีตั๋วดูกัน ทำให้ภาค 2 ที่เหมือนตั้งท่าว่าจะสร้างต่อคงต้องเป็นอันม้วนมรณาลงหลุมตามผีห่าไป สวนทางกับฝั่งหนังอินดี้นอกกระแสที่มีหนังดังทั้งปังทั้งเปรี้ยงมาตั้งแต่เดือนแรกของปีอย่าง เพลงของข้าว (อุรุพงศ์ รักษาสัตย์) ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและคนดูทั่วไปที่ไม่ใช่คอหนังอาจจะไม่ได้ชื่นชอบชื่นชมนัก แต่ในแง่มุมความดีงามทางภาพยนตร์มันคือที่สุดตั้งแต่เปิดศักราชใหม่มา ตามมาด้วย How to Win at Checkers (Every Time) (Josh Kim / Thailand, USA, Hong Kong, Indonesia) หรือในชื่อไทยว่า พี่ชาย My Hero หนังร่วมทุนระหว่างหลายประเทศที่เพิ่งฉายให้คนทั่วไปได้ตีตั๋วเข้าชมกันในเทศกาล Bangkok Gay&Lesbian Film Festival 2015 และกำลังรอเข้าฉายให้ชมความดีงามในวงกว้างมากขึ้นในเร็วๆ นี้ แล้วก็คงจะไม่ผิดถ้าจะนับ Cemetery of Splendour รักที่ขอนแก่น (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) หนังไทยหนึ่งเดียวใน Cannes Film Festival ครั้งล่าสุดที่ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลามในการเข้าฉายในสาย Un Certain Regard ในฐานะหนังที่น่าจับตามอง
แต่พอมองไปดูฝั่งหนังตลาดหวังทำเงินแล้วก็หดหู่ดูสิ้นหวัง ก่อนจะเริ่มเห็นความหวังริบหรี่มาแต่ไกลว่าจะมีหนังไทยที่อาจจะเข้ามาตบตีโกยส่วนแบ่งการตลาดกับหนังฟอร์มยักษ์ฝั่งฮฮลลีวู้ดได้บ้างเมื่อได้ข่าวว่า Transformation Films ร่วมลงทุนกับค่ายหนังยักษ์ใหญ่จากเกาหลี CJ Entertainment ที่สร้างและจัดจำหน่ายหนังมาสเตอร์พีสมาแล้วหลายเรื่องรวมถึงหนังอาชญากรรมชิ้นเยี่ยมอย่าง Memories of Murder (Bong Joon-ho / South Korea / 2003) คนดูหลายคนก็ต่างตั้งตารอคอยแต่พอได้เห็นตัวอย่างหนังเท่านั้นแหละ จิตใจมันก็ตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าหนังมันจะพังไม่เป็นท่าไม่สมกับเงินลงทุนซึ่งสำหรับหนังสัญชาติไทยแล้วก็ถือว่ามหาศาลเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน และนึกเป็นห่วงถึงหนึ่งในผู้กำกับกุมโปรเจ็คต์อย่าง อดิเรก วัฏลีลา ไม่ได้ว่าเขาจะผสมผสานฉลุยในยุคเก่ากับรสนิยมคนดูหนังในยุคปัจจุบันนี้ได้อยู่มือแค่ไหน แต่ความเป็นห่วงครั้งนั้นก็ไม่ได้ผลเมื่อหนังได้พิสูจน์ให้เห็นทุกอย่างแล้วว่ามันล่มจมขมขื่นเพียงใดเมื่อเทียบกับงบหนังและคำคุย
ฉลุย....แตะขอบฟ้า ล้มเหลวตั้งแต่พล็อตเรื่องที่พยายามจะเล่าธีมความไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาในการดิ้นรนตามหาความฝัน ด้วยตัวละครเด็กหนุ่มวัยรุ่นชนชั้นล่างสองคนมีความฝันอยากเป็นศิลปิน แต่แรงผลักดันหลักใหญ่ใจความที่หยิบมาเล่าการอยากไปให้สุดเส้นทางศิลปินของไอ้ขี้แพ้ทั้งสองดันขัดแย้งกับอุดมการณ์ตั้งต้นของธีมเรื่องจนไร้แก่นสาร ด้วยการเลือกให้ความพยายามที่จะเป็นศิลปินมีค่าเท่ากับการเอาชนะใจผู้หญิงที่เพิ่งเจอหน้าตาไม่กี่วันเป็นตัวผลักดันเรื่องทั้งหมด!!! ทำให้ตอนท้ายที่ตัวละครมันไปถึงความสำเร็จมันก็เลยไม่มีจุดเชื่อมโยงความรู้สึกกับความฝันหรืออุดมการณ์ชีวิตให้มันกินใจอะไรเลย เป็นแค่หนังเด็กวัยรุ่นโง่ๆ สองคนที่ทำอะไรโง่ๆ แต่กลับประสบความสำเร็จแบบโง่ๆ จนกระทั่งตอกย้ำความไม่ยลยินยุคสมัยของผู้กำกับด้วยการถ่ายฉากจบมาสองแบบ(มีให้ดูในหนังรอบสื่อ)ที่ให้ผลลัพธ์กับธีมหนังต่างกันราวฟ้ากับเหว ในแบบแรกเห่ยเชยเฉยๆ ยังรับได้ แต่แบบที่สองนั้นทำให้เนื้อหนังตอนจบมันกลวงโบ๋แถมรสชาติยังพาให้พะอืดพะอม ตรรกะสิ้นคิดเหมือนในเรื่องที่ให้พระเอกมันไปทำผมใส่วิกนั่นแหละ(แล้วเค้าจะจำมึงได้มั้ยวะครับ!!!)
แต่ส่วนของบทพวกนี้ไม่ได้เป็นส่วนหลักๆ ที่ทำให้หนังทั้งเรื่องหมดสนุกนะ เพราะรายละเอียดของบทในส่วนเล็กส่วนน้อยไม่ว่าจะเป็นมุกตลกหรือสถานการณ์ต่างๆ ในหนังยังพอมีสมองอยู่ แต่การกำกับและการตัดต่อทำล้มไม่เป็นท่าด้วยจังหวะเรื่อยเอื่อย และมุมมองเชยๆ ซ้ำซากทำให้ฉากที่น่าจะตลกน่าจะสนุกหรือน่าจะเร้าใจซาบซึ้งสุดๆ กลับด้อยเปลี้ยไม่ถึงขีดขั้นที่เป็นได้ โดยเฉพาะการกำกับที่เฉิ่มเชยตั้งแต่ฉากเริ่มเรื่อง และขอเหมารวมถึงการแคสติ้งนักแสดงนำทั้งสองคนทั้ง เจสซี่-เมฆ เมฆวัฒนา กับ นิกกี้-ณฉัตร จันทพันธ์ ที่ตอนแรกก่อนดูหนังรู้สึกว่าก็น่าจะโอเค แต่พอได้ดูแล้วแทบจะไม่มีความน่าสนใจเลยแถมพอรวมกับตัวละครแล้วยังไร้เสน่ห์อีกต่างหาก การแสดงก็ไปไม่สุด จะดีใจ จะเมามัน ยังดูขัดเขินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้นึกถึงหนังไทยวัยรุ่นหลายๆ เรื่อง อย่าง Seasons Change (นิธิวัฒน์ ธราธร) กับ Suckseed ห่วยขั้นเทพ (ชยนพ บุญประกอบ) หรือหนังเด็กอย่าง แฟนฉัน (ทรงยศ สุขมากอนันต์, คมกฤษ ตรีวิมล, นิธิวัฒน์ ธราธร, วิทยา ทองอยู่ยง, วิชชพัชร์ โกจิ๋ว, อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม) กับ ปัญญาเรณู (บิณฑ์ บันลือฤทธิ์) ที่แคสติ้งนักแสดงหน้าใหม่แทบทั้งหมดทำให้คนดูไม่ติดภาพลักษณ์ของนักแสดงและเชื่อตัวละครได้ง่ายขึ้น แถมยังมีเสน่ห์และน่าสนใจมากๆ ทำให้หนังน่าเชื่อน่าติดตามและน่าหลงรัก แต่ยังดีที่มี ใบเตย-สุวพิชญ์ ไตรพรวรกิจ ที่เล่นได้น่ารักพอดีและที่สำคัญคือน่าเชื่อทั้งสองตัวละคร เด็กสาวไทยสายแบ๊วกับสาวลูกครึ่งไทย-เกาหลีสวยใสน่ารักดูเป็นมิตร ซึ่งตัวละครหลังดูแล้วเชื่อมากๆ จากบุคลิกคำพูดแววตาและน้ำเสียงว่าใบเตยเป็นลูกครึ่งจริงๆ นิชคุณ หรเวชกุล ก็เป็นอีกหนึ่งนักแสดงที่ทำให้หนังไม่น่าเบื่อกับตัวละครที่เล่นเป็นตัวเองเชิงล้อเลียนได้ตลกดี แต่ก็ยังรู้สึกว่าใช้นิชคุณให้มีผลต่อเรื่องราวได้ไม่คุ้มค่า และนักแสดงสมทบรับเชิญอีกคนที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ แจง-วราพรรณ หงุ่ยตระกูล ที่แย่งซีนได้พอเหมาะพอดี ผิดกับ ปอ(AF)-อรรณพ ทองบริสุทธิ์ ที่มาสมทบแบบตั้งใจให้มารองรับมุกไปหน่อยจนมันกระปิดกระปอยสมชื่อเพลง
ขอเข้าอารมณ์บ่น...ใจจริงเป็นคนชอบดูหนังไทยนะ และพยายามไปดูในโรงให้ครบทุกเรื่องเพื่อเป็นแรงและกำลังใจเล็กๆ ในการสนับสนุนถึงแม้หนังหลายเรื่องจะเข้าขั้นหายนะเลยก็ตาม กับเรื่องนี้ก็เชียร์เต็มที่ แต่พอหนังจบมันก็เสียดายที่หนังมันไม่ดีหรือน่าสนใจพอที่จะเกิดกระแสและได้เงิน เพื่อที่ค่ายจะได้เอาเงินไปทำหนังเรื่องต่อๆ ไป สร้างความหลากหลายและคุณภาพให้วงการหนังบ้านเรา เชื่อว่าคนดูหนังไทยส่วนใหญ่ต่างก็พากันตั้งคำถามว่าทำไมหนังไทยทุกวันนี้มันไม่พัฒนาอะไรเลย มันเป็นเพราะอะไรกัน คนไม่ดูหนังไทย? คนทำไม่เก่งพอ? หนังดีการตลาดไม่ดี? คนดูไม่หลากหลายพอ? คนทำอีโก้สูงไป? หนังส่วนใหญ่มักจะล้มเหลวโดยเฉพาะรายได้ สำหรับ ฉลุย แตะขอบฟ้า บางทีมันก็อดคิดขนาดที่ได้ยินคนหลายคนพูดว่าถ้าไม่มีความดื้อของผู้กำกับรุ่นใหญ่บางคนหนังมันอาจจะดีกว่านี้...ก็เป็นได้ ยังดีที่ยังยอมตัดตอนจบแบบที่สองที่งี่เง่าตอนฉายรอบสื่อทิ้งไป มาถึงตอนนี้ไม่แปลกแล้วใจว่าทำไม สุชาติ มัฆวิมาลย์ หนึ่งในผู้กำกับถึงไม่ได้ถูกพูดถึงนัก และวงการหนังไทยครึ่งปีหลังก็คงต้องพึ่งความดีงามของหนังนอกกระแสที่คลอดคลานออกมาเรื่อยๆ ไม่ให้สภาพหนังไทยโดยรวมปีนี้เน่าหนอนจนเกินไป และก็คงต้องฝากความหวังทางด้านเม็ดเงินไว้กับบารมีของค่ายหนังอารมณ์ดี GTH แล้วสินะ
สู้ๆ หนังไทย...
สรุปผลวิจารณ์หนัง