เท็นเยียร์ไทยแลนด์ - Ten Years Thailand
หนัง Ten Years Thailand หรือชื่อไทยว่า เท็นเยียร์ไทยแลนด์ TEN YEARS THAILAND เป็นโครงการภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างระหว่างไทย-ฮ่องกง-ญี่ปุ่น นำเสนอความคิดและมุมมองของผู้กำกับภาพยนตร์ทั้งสี่คน เพื่อบอกเล่าจินตนาการถึงประเทศของพวกเขาในอนาคตสิบปีข้างหน้า โดยโครงการนี้ต่อเนื่องมาจาก “Ten Years” ภาพยนตร์ฮ่องกงที่สร้างเมื่อปี 2015 ภายหลัง Umbrella Movement โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคต หลังจากประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย โครงการนี้จึงถูกส่งต่อมายังประเทศไทย และตั้งใจส่งผ่านพลังสร้างสรรค์ให้คนทำหนังในประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ไต้หวัน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ภาพยนตร์เรื่อง Ten Years Thailand เป็นโครงการภาพยนตร์ขนาดยาวที่ประกอบด้วยภาพยนตร์สั้น 4 เรื่องประกบกัน จํากัดความยาวเรื่องละไม่เกิน 20 นาที โดยมีโจทย์กำหนดแบบเปิดกว้าง ตั้งคำถามและความหมายของ ‘อนาคต’ ผ่านมุมมองของผู้กำกับแต่ละคน ทั้งผู้กำกับที่มีชื่อเสียงและมีผลงานเป็นที่รู้จัก นอกจากนั้นยังเปิดพื้นที่สำหรับสนับสนุนคนทำหนังรุ่นใหม่ โดยคัดเลือกผลงานจากผู้กำกับที่มีความโดดเด่น เพื่อผลักดันให้เกิดผลงานขนาดยาวในโอกาสต่อไป SUNSET by Aditya Assarat SUNSET เป็นภาพยนตร์ที่เล่าโมงยามน้อยนิด ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรักระหว่างแก่นและแอ๋น หนุ่ม สาวจากต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุงเทพ แก่นเป็นพลทหารพนักงานขับรถ ที่ต้องพาหัวหน้าหน่วยเดินทางเพื่อตรวจตราความเรียบร้อยในสถานที่ที่ได้รับการร้องเรียน วันสุดท้ายที่ทั้งสองจะมีโอกาสพบกัน ในบรรยากาศจัดแสดงผลงาน ศิลปะภาพถ่าย “I laugh so Hard, I cried” ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่แอ๋นทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้าน และมีหน้าที่ทำความสะอาด แก่น ต้องย้ายไปประจำการที่จังหวัดอื่น และเขาตัดสินใจที่จะบอกความในใจกับเธอ CATOPIA by Wisit Sasanatieng CATOPIA เรื่องของโลกยุคดิสโทเปีย เมื่อชายผู้หนึ่งพบว่าตัวเองเป็นมนุษย์คนเดียว ที่หลงเหลืออยู่ และกำลังใช้ชีวิตประจำวันที่แสนปรกติ ท่ามกลางประชากรที่เป็นแมว... แมวพวกนั้นเดินเหิน แต่งกาย พูดคุย และทำทุกอย่างได้เหมือนเป็นมนุษย์ปรกติทุกประการ แมวบางตัวเป็นเพื่อนของเขามาก่อนด้วยซ้ำ พวกมัน ไม่รู้ว่าเขาเป็น มนุษย์เพียงคนเดียว ที่เหลืออยู่ในโลกของแมว เขาจึงต้องทำตัวให้กลมกลืน และถ้าพวกมันจับได้เขาจะถูกกำจัด ทิ้งทันที PLANETARIUM by Chulayarnon Siriphol PLANETARIUM เป็นภาพยนตร์แนวแฟนตาซีเหนือจริง ที่จำลองการทำงาน ขององค์กรสื่อสารใน 10 ปีข้างหน้า หนังจะพาเราสำรวจความทันสมัย ก้าวไกล ของเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ 4.0 ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อทัศนคติและการดำเนินชีวิตของคนในสังคม จนทำให้คนรุ่นใหม่ยินยอมเข้าร่วมทำงานและเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกตรวจสอบ โดยมีพลังแสงแห่งความดีชำระล้างความไม่ถูกต้องเพื่อให้คนเป็นคนดี และสังคมสามารถเดินหน้าต่อ ได้อย่างสงบสุข SONG OF THE CITY by Apichatpong Weerasethakul SONG OF THE CITY เป็นภาพยนตร์แนวทดลองที่เล่าคู่ขนานระหว่างขั้นตอนคัดเลือกนักแสดง และการบันทึกการถ่ายทำเรื่องราวของเซลล์แมนที่พยายามขายเครื่องที่สามรถทำให้หลับฝันดีและมีความสุข ซึ่งเกิดขึ้นที่สวนสาธารณะในอนุสาวรีย์ใจกลางเมืองจังหวัดขอนแก่น ที่กำลังทำการบูรณะซ่อมแซม ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น เสมือนบันทึกความทรงจำส่วนตัวของผู้กำกับที่มีต่อพื้นที่ที่เติบโต นอกจากนั้นภาพยนตร์ยังบันทึกสรรพเสียงของคนที่อาศัยโดยรอบ เสมือนไดอารี่หรือจดหมายที่รอการกลับมาอ่านซ้ำอีกครั้ง
10 Years Thailand " ประเทศไทยใน 10 ปีข้างหน้า "
95 min | Drama | Directed by Aditya Assarat ,Wisit Sasanatieng ,Chulayarnnon Siriphol ,Apichatpong Weerasethakul
เรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ?
หนังว่าด้วยเรื่องราวของ ประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ถ่ายทอดผ่านสายตาและหนังสั้นของผู้กำกับทั้ง 4 คน 4 เรื่องซึ่งประกอบไปด้วย Sunset ที่เล่าถึง ความรักของทหารพลขับ กับ สาวต่างจังหวัด โดยพวกเขาได้พบเจอกันผ่านการที่ติดตามนาย มาตรวจสอบแกลลอรี่จัดแสดงผลงานของศิลปินที่ได้รับการแจ้งมาว่าการแสดงนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมบ้านเมืองของเรา | Catopia ที่เล่าถึง โลกที่มนุษย์หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด เพราะถูก " แมว " ครองโลก พวกที่เหลือรอดอยู่ทำได้เพียงหลบซ่อนและแฝงตัวอยู่เพื่อให้รอดพ้นจากการออกล่าของพวกแมว | Planetarium ที่เล่าถึงความก้าวหน้าของสังคมและเทคโนโลยี แบบ 4.0 ที่แท้ทรู และสุดท้าย Song of the City ของพี่เจ้ยที่เล่าถึง เซลล์ แมน ที่พยายามขายเครื่องที่ช่วยให้นอนหลับสบายแถวบริเวณอนุเสาวรีย์ในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น
ความรู้สึกแรกหลังดูจบ..
น่าจะต้องรีวิวแยกหลายจุด เพราะด้วยความที่จริงๆแล้วมันคือหนังสั้นถึง 4 เรื่อง โดยมีธีมอนาคตของประเทศไทยมาคลุม แต่พอมามองในภาพรวมจริงๆ แล้ว แทบจะทุกเรื่องก็พูดไปในทิศทางเดียวกัน ว่าแก่นแท้ของประเทศต่อให้เป็นอีก 10 ปีมันก็ไม่ได้ดูจะแตกต่างจากนี้ไปมาก อาจจะต่างไปแค่เพียงผิวเผินหรือบริบทภายนอกเท่านั้นเอง แต่ก็ดีใจมากที่หนังค่อนข้างแข็งแรงในสิ่งที่อยากนำเสนอ ผ่านรูปแบบและสไตล์ของแต่ละคน แข็งจนตกใจเหมือนกันที่ได้มีโอกาสได้ดู และหนังมีโอกาสได้ฉาย ด้วยเรทที่น่าตกใจไม่น้อย แต่ก็อาจจะด้วยความที่หนังค่อนข้างแทนสัญญะจัดๆ ก็เลยทำให้มันเหมือนมีรังไหมมีปกคลุมอยู่ ทำให้มันซอฟต์ลงอยู่มาก
พาร์ทที่ชอบมากที่สุด คือ ท้องฟ้าจำลอง หรือตอนที่ 3 (Planetarium) ที่ดูจะใช้สัญญะจัดที่สุด แต่ประเด็นแก่นแท้ของหนังก็โดนใจและตรงใจเรามากที่สุดเช่นกัน และมันดูจะสะท้อนความเป็นจริงที่สะสมมานานหลายสิบหลายร้อยปี จนต่อให้อีก 10 ปีข้างหน้ามันก็เป็นแบบในหนังหรือ(หนักแบบในหนัง) เลยก็เป็นได้ ส่วนตอนรองลงมาที่ชอบคือตอนแรก Sunset ที่จริงๆ แล้วหนังพูดถึงประเด็น censorship ของรัฐบาล กับ ศิลปินที่เป็นประเด็นกันมาในช่วงหลายปีหลังมานี้ ออกมาได้ค่อนข้างดี ผ่านเรื่องราวของสองตัวละครหลักที่ดูจะเกี่ยวและไม่เกี่ยวกับแก่นของหนังที่จะนำเสนอ (จนทำให้นึกถึงเทคนิคในเรื่อง Roma ที่พึ่งได้ดูไปเลย ในแง่ของเลเยอร์การเล่าเรื่อง และ ภาพขาวดำ 55)
สรุป
10 Years Thailand เป็นเหมือนหมุดหมายอะไรบางอย่างในวงการภาพยนตร์และประวัติศาสตร์ไทยเหมือนกัน ไม่ว่ามันจะขับเคลื่อนหรือทำให้เราฉุกคิดอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อยๆ ก็เป็นเหมือนบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ ตามที่ผู้กำกับตั้งใจ อยากให้ทุกคนที่ได้มีโอกาสลองไปสดับรับชมกันดูครับ
สรุปผลวิจารณ์หนัง