ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

RFID คืออะไร ? เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร ? มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? ฯลฯ

RFID คืออะไร ? เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร ? มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? ฯลฯ
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/radio-frequency-identification-technology-isometric-vector-concept-with-rfid-reader-scanner_4394113.htm
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 1,270
เขียนโดย :
0 RFID+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F+%E0%B8%AF%E0%B8%A5%E0%B8%AF
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

RFID คืออะไร ?

เมื่อไม่นานมานี้ เราได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเทคโนโลยี Near-Field Communication หรือ NFC ออกไป ซึ่งในบทความนั้น เราได้มีการกล่าวว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อยอดมาจากเทคโนโลยี Radio Frequency Indentification หรือ RFID อีกที

บทความเกี่ยวกับ RFID อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม RFID ไม่ได้หายไปไหน เพราะคุณสมบัติการทำงานหลายอย่างที่มันมี ทาง NFC ก็ไม่สามารถทำได้ ในปัจจุบันนี้ ยังคงมีการใช้งาน RFID กันอย่างแพร่หลาย

ไหน ๆ เราก็แนะนำเทคโนโลยี NFC ไปแล้ว ดังนั้น ก็เลยอยากจะมาแนะนำเทคโนโลยี RFID ด้วยเลยละกัน

เนื้อหาภายในบทความ

เทคโนโลยี RFID คืออะไร ? (What is Radio Frequency Identification Technology ?)

"RFID" ย่อมาจากคำว่า "Radio Frequency Identification" มันเป็นเทคโนโลยีของระบบสื่อสารแบบไร้สายชนิดหนึ่ง ที่ใช้เพื่อยืนยันตัวตน หรือวัตถุ โดยจะมีอุปกรณ์สำหรับอ่านข้อมูล (Reader) ที่ถูกบันทึกเอาไว้ในป้าย (Tag) สามารถทำงานได้ในระยะไกลผ่านคลื่นวิทยุ โดยไม่ต้องสัมผัสกัน หรืออยู่ในระยะสายตา

RFID คืออะไร ? เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร ? มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? ฯลฯ
ภาพจาก : https://passive-components.eu/what-is-rfid-how-rfid-works-rfid-explained-in-detail/

มันไม่ใช่เทคโนโลยีสมัยใหม่ เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ช่วงยุค ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) จวบจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังนิยมใช้งานในชีวิตประจำวันกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่กุญแจรถ, บัตรพนักงาน, บัตรทางด่วน, คีย์การ์ดเข้าประตู ฯลฯ

ระบบป้องการการโจรกรรมตามห้างสรรพสินค้า ที่จะมี RFID Tag ที่ถูกติดตั้งอยู่กับตัวสินค้า พอเราจ่ายเงินเสร็จ พนักงานถึงจะแกะออกให้ ถ้าหากเราเดินถือสินค้าผ่านประตูออกไปโดยที่ยังไม่ชำระเงิน หากเซ็นเซอร์ที่ประตูทางออกตรวจพบ Tag มันก็จะส่งเสียงแจ้งเตือนดัง (ลั่น) ทันที ระบบนี้ก็อาศัยหลักการทำงานของ RFID ด้วยเช่นกัน

หลักการทำงานขั้นพื้นฐานของเทคโนโลยีนี้คือ การใช้ RFID Reader และ RFID Tag ทำงานร่วมกัน โดยข้อมูลจะถูกเข้ารหัสเก็บไว้ใน RFID Tag ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกอ่านได้ด้วย RFID Reader โดยสามารถอ่านข้อมูลจาก RFID Tag จำนวนมากในเวลาเดียวกัน ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีมาก

RFID Reader เป็นอุปกรณ์ที่มีเสาอากาศ (Antenna) จำนวนหลายเสา ทำหน้าที่ปล่อยคลื่นวิทยุ และรับคลื่นวิทยุที่ถูกส่งกลับมาจาก RFID Tag ที่มีคุณสมบัติในการเก็บ, กู้ และบันทึกข้อมูลซ้ำได้ ความจุของข้อมูลโดยทั่วไปอยู่ที่ 2 Kilobytes (KB) ซึ่งเก็บข้อมูลได้ประมาณ 2,000 ตัวอักษร อาจจะฟังดูน้อย แต่สำหรับการเก็บข้อมูลสินค้า หรือชื่อพนักงาน มันก็ถือว่ามากเกินพอ ปัจจุบันนี้มี RFID Tag ที่เก็บข้อมูลได้ถึง 4 KB และ 8 KB ออกมาแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก

ส่วนประกอบหลักของ เทคโนโลยี RFID (Main Components of Radio Frequency Identification Technology)

RFID ทุกระบบจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบอย่างน้อย 4 ส่วน คือ

  1. RFID Tag (แท็กส่งสัญญาณ)
  2. RFID Reader (ตัวรับสัญญาณ RFID และประมวลผล)
  3. Antenna (เสาอากาศ)
  4. Software (ซอฟต์แวร์)

RFID Tag (แท็กส่งสัญญาณ)

RFID Tag หรือ Smart Tag เป็นไมโครชิปขนาดเล็กที่มีเลขรหัสประจำตัว รวมถึงเสาอากาศ (Antenna) ที่ฝังอยู่ด้วย โดยในทางเทคนิคแล้ว มันทำหน้าที่เป็น Transponder (มาจากการรวมคำว่า Transmitter (Trans) + Responder (Ponder)) ซึ่งหมายถึงอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ทั้งส่ง และตอบสนองต่อสัญญาณได้)

ตัว RFID Tag เป็นฉลากอัจฉริยะ (Smart labels) ที่สามารถเก็บข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่หมายเลขซีเรียลนัมเบอร์, ข้อมูลรายละเอียดสินค้า, ประวัติพนักงาน ฯลฯ สำหรับการใช้งานเพื่อยืนยันตัวตน หรือในระบบที่ต้องการความปลอดภัยสูงเป็นพิเศษ จะมีการนำเทคนิคเข้ารหัสรักษาความปลอดภัยแบบ Cryptographic มาใช้งานร่วมด้วย

ในการใช้งาน ตัว RFID Tag จะถูกนำไปติดตั้ง หรือแปะเอาไว้กับเป้าหมายที่ต้องการใช้ระบบยืนยันข้อมูล โดยเครื่อง RFID Reader จะสามารถอ่านข้อมูลที่เก็บอยู่ใน RFID Tag ได้จากระยะไกล โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรง จุดนี้จะมีความแตกต่างจาก เทคโนโลยีบาร์โค้ด (Barcodes) ที่การอ่านข้อมูลจะต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นถึงจะอ่านข้อมูลได้ นอกจากนี้ การสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลจะทำงานได้ตลอดเวลา ตราบใดที่ RFID Tag หรือ Transponder ยังอยู่ในระยะสนามแม่เหล็กของ RFID Reader / Writer

RFID คืออะไร ? เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร ? มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? ฯลฯ
ภาพจาก : https://www.indiamart.com/proddetail/high-frequency-rfid-card-23179741612.html

สำหรับ RFID Tag นั้น มีอยู่ 2 ประเภท คือ

  1. Passive RFID Tag : เป็น Tag ที่ไม่มีแหล่งพลังงาน หรือแบตเตอรี่ในตัว อาศัยพลังงานที่ถูกสร้างขึ้นจากคลื่นวิทยุที่ถูกปล่อยออกมาจากเครื่อง RFID Reader มันยังคงสามารถทำงานแบบระยะไกลได้ แต่ระยะทำการจะสั้นลง ข้อดีคือ มันมีขนาดเล็ก, บาง และน้ำหนักเบามาก ถือเป็นรูปแบบ RFID Tag ที่นิยมใช้งานกันมากที่สุด
  2. Active RFID Tag : เป็น Tag ที่มีแหล่งพลังงาน หรือแบตเตอรี่ในตัว ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานภายนอกจากเครื่อง RFID Reader มีข้อดีตรงสามารถรับส่งข้อมูลได้ไกลกว่า Passive RFID Tag แต่การใช้งานก็แพร่หลายน้อยกว่าเช่นกัน เนื่องจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้น

RFID Reader (ตัวรับสัญญาณ RFID และประมวลผล)

ถือเป็นฮาร์ดแวร์ชิ้นสำคัญในเทคโนโลยี RFID เพราะมันทำหน้าที่เหมือนสมองของระบบ คอยควบคุมการส่ง และรับคลื่นวิทยุ โดยมันเชื่อมต่อกับเสาอากาศ (Antenna) เพื่อทำการสื่อสาร และรับข้อมูลสัญญาณจาก RFID Tag (หรือ Transponder) รวมถึงยังทำหน้าที่ในการแปลงคลื่นวิทยุที่ได้รับมาให้เป็นข้อมูลดิจิทัลในฐานข้อมูลบนคอมพิวเตอร์

RFID คืออะไร ? เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร ? มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? ฯลฯ
ภาพจาก : https://www.mymemory.co.uk/blog/rfid-blocking-what-is-it/

โดย RFID Reader ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Mobile Reader และ Fixed Reader

  1. Mobile Reader : เป็นอุปกรณ์แบบมือถือ สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก ทำให้การใช้งานมีความยืดหยุ่น
  2. Fixed Reader : จะติดตั้งอย่างถาวรไว้ในตำแหน่งที่ต้องการ โดยมากจะแขวนผนัง หรือไม่ก็ติดตั้งไว้บนโต๊ะ

Antenna (เสาอากาศ)

คำว่า "Antenna" หากแปลตรง ๆ ก็คือ "เสาอากาศ" นั่นเอง เป็นส่วนประกอบที่มีหน้าที่ควบคุมการส่ง และรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถูกออกแบบให้ทำงานบนความถี่ตามที่แอปพลิเคชันกำหนดเท่านั้น

ตามปกติแล้ว RFID Antenna จะถูกฝังเอาไว้ภายในตัว RFID Reader และ RFID Tag โดยตรง ส่วนความถี่, รูปทรง และขนาดของ Antennda สามารถแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ และการนำไปใช้ แต่หลัก ๆ จะแบ่งเป็นแบบความถี่ต่ำ (Low Frequency - LF), ความถี่สูง (High Frequency - HF) และความถี่สูงพิเศษ (Ultra High Frequency - UHF)

RFID คืออะไร ? เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร ? มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? ฯลฯ
ภาพจาก : https://www.rfpage.com/components-of-rfid-technology-and-applications/

Software (ซอฟต์แวร์)

ซอฟต์แวร์ จัดว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานของเทคโนโลยี RFID โดยซอฟต์แวร์จะควบคุมการทำงานของ RFID Reader ในด้านการสแกน และรับข้อมูลจาก RFID Tag การเก็บข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ หรือ บนคลาวด์, เปรียบเทียบข้อมูลที่ได้รับกับฐานข้อมูลในระบบ รวมไปถึงการลบ และเขียนข้อมูลลงใน RFID Tag ทั้งหมดนี้ต้องทำผ่านซอฟต์แวร์

RFID คืออะไร ? เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร ? มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? ฯลฯ
ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=poCj7gMaLkE

เทคโนโลยี RFID ทำงานอย่างไร ? (How does Radio Frequency Identification Technology work ?)

หลักการทำงานของเทคโนโลยี RFID อยู่บนพื้นฐานของการเชื่อมต่อแบบเหนี่ยวนำ (Inductive Coupling) รวมถึงเสาส่ง และรับสัญญาณ อย่างที่เราได้อธิบายไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ ว่าภายใน RFID Tag แต่ละชิ้น จะมีไมโครชิปที่บันทึกหมายเลขประจำตัว, รุ่น, วันที่ผลิต, วันหมดอายุ, ข้อมูลส่วนบุคคล, รายละเอียด ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถอ่านได้ด้วย RFID Reader

กระบวนการทำงานของ RFID เริ่มต้นขึ้นที่การสแกนหาวัตถุ ในขั้นตอนนี้ตัว RFID Tag และ RFID Reader จะต้องอยู่ในระยะสามารถสื่อสารกันได้ ระยะห่างก็ขึ้นอยู่กับย่านความถี่ที่เลือกใช้ โดย RFID Reader จะกระจายคลื่นสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าผ่าน Antenna จากนั้น ขดลวดขนาดเล็กที่อยู่ภายใน RFID Tag ก็จะจับสัญญาณจากเครื่อง RFID Reader ในตอนนี้ หากตัว Tag เป็นแบบ Passive มันจะเริ่มทำงานได้หลังจากได้รับพลังงานจากเครื่องอ่าน

และเมื่อ RFID Tag เริ่มทำงานแล้ว มันจะปล่อยคลื่นวิทยุกลับไปหา RFID Reader โดยใช้ Antenna ตัวเดียวกันกับที่ใช้รับสัญญาณด้วยหลักการ Inductive Coupling เมื่อฝั่ง RFID Reader ได้รับคลื่นสัญญาณที่ Tag ส่งมาให้ ก็จะทำการแปลความหมายจากคลื่นสัญญาณที่ได้รับมาให้ข้อมูลที่คอมพิวเตอร์เข้าใจได้โดยอาศัยซอฟต์แวร์ในการทำงาน

RFID คืออะไร ? เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร ? มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? ฯลฯ
ภาพจาก : https://howtomechatronics.com/tutorials/arduino/rfid-works-make-arduino-based-rfid-door-lock/

ประเภทของ เทคโนโลยี RFID (Types of Radio Frequency Identification Technology)

Radio Frequency Identification (RFID) มีการแบ่งประเภทตามย่านความถี่ในการทำงาน ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภทหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

  1. Low Frequency Band RFID (LF Band RFID)
  2. High Frequency Band RFID (HF Band RFID)
  3. Ultra High Frequency Band RFID (UHF Band RFID)

Low Frequency Band RFID
(LF Band RFID)

สำหรับ LF Band RFID เป็นระบบที่ทำงานบนย่านความถี่ระหว่าง 30 kHz - 300 kHz แต่ในทางปฏิบัติแล้ว LF  Band RFID จะใช้ย่านความถี่ 125 hHz หรือไม่ก็ 134 kHz ระยะห่างในการสื่อสารค่อนข้างสั้น อยู่ที่ประมาณ 10 เซนติเมตร เท่านั้น และมีความเร็วในการอ่านข้อมูลค่อนข้างช้า ส่วนใหญ่แล้ว LF Band RFID นิยมใช้ในระบบประตูดิจิทัล (ที่เราต้องเอาบัตรแตะเพื่อเปิดประตู)

High Frequency Band RFID
(HF Band RFID)

ทำงานบนย่านความถี่ระหว่าง 3 MHz - 30 MHz แต่ในทางปฏิบัติ HF Band RFID จะทำงานที่ย่านความถี่ 13.56 MHz โดยระยะในการอ่านข้อมูลจะอยู่ที่ 10 เซนติเมตร - 1 เมตร สำหรับ HF Band RFID นิยมใช้ในระบบบัตรเข้าชมงาน, ระบบจ่ายเงิน และแอปพลิเคชันสำหรับรับส่งข้อมูล

Ultra High Frequency Band RFID
(UHF Band RFID)

สำหรับ UHF Band RFID จะรองรับการทำงานที่ย่านความถี่ตั้งแต่ 300 MHz - 3 GHz แต่ในทางปฏิบัติ ปกติแล้วจะทำงานที่ย่านความถี่ 433 MHz สามารถอ่านข้อมูลได้ไกลกว่า 12 เมตร และมีอัตราการรับส่งข้อมูลที่เร็วมาก

โครงการพัฒนา RFID ในปัจจุบัน ล้วนแต่นิยมใช้ระบบ UHF Band RFID ทำให้มันเป็นตลาดที่เติบโตเร็วมากที่สุดนั่นเอง

ตารางเปรียบเทียบ เทคโนโลยี RFID ในแต่ละประเภท (Radio Frequency Identification Technology Comparison Table)

ย่านความถี่

ระยะทำการ อัตราข้อมูล

LF: 120–150 kHz

10 เซนติเมตร ต่ำ

HF: 13.56 MHz

0.1–1 เมตร ต่ำ - ปานกลาง

UHF: 433 MHz

1–100 เมตร ปานกลาง
UHF: 865–868 MHz | 902–928 MHz 1–12 เมตร

ปานกลาง - สูง

Microwave: 2450–5800 MHz 1–2 เมตร

สูง

Microwave: 3.1–10 GHz สูงสุด 200 เมตร

สูฃ

ประโยชน์ของการใช้งาน เทคโนโลยี RFID (Benefits of Radio Frequency Identification Technology)

ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยี RFID ได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ทั้งในเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม โดยมีการประยุกต์ใช้งานเพื่อการค้นหา, ระบุตัวตน, ติดตาม, สื่อสาร ฯลฯ ตัวอย่างการใช้งาน RFID ที่พบเห็นได้โดยทั่วไป ตัวอย่างเช่น

  • ระบบควบคุมการเข้าถึง (Access Control)
  • ระบบค้าปลีก และห่วงโซ่อุปทาน
  • ระบบควบคุม และจัดการสินค้าคงคลัง
  • ติดตามทรัพย์สิน และอุปกรณ์ต่าง ๆ
  • ติดตามยานพาหนะ
  • ติดตามมนุษย์ และสัตว์เลี้ยง
  • ฝ่ายบริการลูกค้า และควบคุมความเสี่ยง
  • ระบบโลจิสติกส์ และการขนส่ง
  • ระบบอัตโนมัติ (Automation) ในการผลิต
  • การแพทย์ และโรงพยาบาล
  • ระบบเก็บค่าผ่านทาง
  • ระบบชำระเงินแบบสัมผัสของบัตรเครดิต

ประวัติของ เทคโนโลยี RFID (The History of Radio Frequency Identification Technology)

รากเหง้าของเทคโนโลยีการระบุความถี่คลื่นวิทยุสามารถย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมนี, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ต่างใช้ระบบเรดาห์ในการสงคราม ซึ่งมันถูกค้นพบในปี ค.ศ.1935 (พ.ศ. 2478) โดยเซอร์โรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ วัตสัน วัตต์ (Robert Watson-Watt) นักฟิสิกส์ชาวสกอตแลนด์ 

โดยในตอนนั้นกองทัพประสบปัญหาว่า เมื่อมีเครื่องบินเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ จะไม่มีทางรู้เลยว่าเครื่องบินลำดังกล่าว เป็นเครื่องบินของกองทัพที่กำลังบินกลับมาบ้าน หรือว่าเป็นเครื่องบินของศัตรูที่ต้องการบุกโจมตี

ในตอนนั้นทางประเทศเยอรมนีได้ค้นพบว่า หากนักบินบังคับให้เครื่องบินหมุนควงสว่าน มันจะทำให้คลื่นวิทยุเกิดการสะท้อนกลับ มันอาจเป็นวิธีที่ค่อนข้างดิบ แต่มันก็ทำให้ฝ่ายดูเรดาห์รู้ว่า เครื่องบินที่กำลังเข้าใกล้นั้นเป็นฝ่ายอักษะเหมือนกัน ไม่ใช่เครื่องบินจากฝ่ายพันธมิตร อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นระบบ RFID แบบ Passive ตัวแรกของโลกก็ว่าได้

กลับมาที่เซอร์โรเบิร์ต อเล็กซานเดอร์ วัตสัน วัตต์ เขาได้รับผิดชอบในตำแหน่งหัวหน้าโครงการลับเพื่อพัฒนาระบบ "Identify friend or foe (IFF)" (ระบบระบุเพื่อน หรือศัตรู) เขาได้แก้ไขปัญหาด้วยการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณวิทยุที่เครื่องบินของประเทศอังกฤษทุกลำ เมื่อเครื่องบินได้รับสัญญาณจากสถานีเรดาห์ที่ตั้งภาคพื้นดิน ก็จะทำการส่งสัญญาณกลับไป เพื่อยืนยันตัวตนว่าเราเป็นพวกเดียวกัน

RFID คืออะไร ? เทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร ? มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ? ฯลฯ
XAE IFF kit ตัวแรกของโลก
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Identification_friend_or_foe

เทคโนโลยี Radio Frequency Identification (RFID) ก็ทำงานด้วยหลักการพื้นฐานนี้เช่นเดียวกันคือ ส่งสัญญาณไปหา Trasnsponder เพื่อปลุกให้มันสะท้อนสัญญาณกลับมา (ในระบบแบบ Passive) หรือแพ้กระจายสัญญาณกลับมา (ในระบบแบบ Active)

ความก้าวหน้าของระบบเรดาห์ และระบบสื่อสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ ค.ศ. 1950-1960 (พ.ศ. 2493-2503) นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น ได้ค้นคว้า และวิจัย ในหัวข้อเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการระบุตัวตน มีบริษัทหลายแห่งเริ่มวางจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันขโมยที่ใช้คลื่นวิทยุในการตรวจสอบว่าตัวสินค้าได้รับการชำระเงินแล้วหรือยังไม่ได้จ่าย ซึ่งก็ยังใช้งานกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ หลักการทำงานของมันมีความเรียบง่าย คือตัว Tags จะเก็บข้อมูลเอาไว้ 1 บิต เมื่อชำระเงินแล้ว จะถูกเปลี่ยนค่าเป็น 0 บิต ลูกค้าสามารถเดินออกจากร้านได้โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้ายังไม่ได้ชำระเงิน เครื่องสแกนที่ประตูจะส่งสัญญาณเตือนในทันที

สิทธิบัตร RFID ใบแรก

ในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ดอกเตอร์มาริโอ คาร์ดูโล (Mario Cardullo) เป็นนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันคนแรกที่จดสิทธิบัตร RFID Tag ที่สามารถเขียนข้อมูลซ้ำได้ ในปีเดียวกันชาร์ลส วอลตัน (Charles Walton) นักประดิษฐ์ และนักลงทุนชาวแคลิฟอร์เนีย ก็ได้รับสิทธิบัตร Transponder แบบ Passive ด้วยเช่นกัน มันมีคุณสมบัติในการปลดล็อคกลอนประตูโดยไม่ต้องใช้กุญแจ แต่ใช้การ์ดที่ด้านในมีชิปสำหรับสื่อสารกับตัวอ่าน (Readers) ที่ติดตั้งที่ประตูแทน เมื่ออ่านค่าในการ์ดแล้วตรงกับในฐานข้อมูลที่บันทึกเอาไว้ ประตูก็จะเปิดให้ ซึ่งเขาได้ขายลิขสิทธิ์ในการใช้งานสิทธิบัตรของเขาให้กับผู้ผลิตล็อคสำหรับประตูหลายแห่ง

ทางรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาก็สนใจในระบบ RFID เช่นกัน ในช่วง ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสอาลามอส (Los Alamos National Laboratory) ได้รับคำร้องขอจากกระทรวงพลังงานให้ช่วยพัฒนาระบบติดตามวัสดุนิวเคลียร์ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ได้เสนอทางออกด้วยการนำ Transponder ไปติดตั้งไว้ที่รถบรรทุก และติดตั้ง RFID Reader ที่ประตูทางเข้าออก โดยชิปที่ติดในตัวรถจะมีการระบุข้อมูลสำคัญอย่างบัตรประชาชนของผู้ขับขี่, วัสดุที่บรรทุก ฯลฯ ภายหลังระบบนี้ถูกนำไปขายต่อให้กับบริษัทเอกชน 

ต่อมาในช่วง ค.ศ. 1980 นักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสอาลามอสที่เคยรับผิดชอบในโครงการดังกล่าวได้ลาออกมาก่อตั้งบริษัทที่พัฒนาระบบชำระเงินอัตโนมัติของทางด่วน ซึ่งภายหลังมันได้กลายเป็นระบบที่ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทั้งบนถนน, สะพาน, ทางด่วน และอุโมงค์ที่ผู้ใช้ต้องเสียค่าผ่านทาง

นอกจากนี้ ยังมีคำขอจากกรมวิชาการเกษตร ที่ทางห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสอาลามอสได้พัฒนา RFID Tag แบบ Passive ขึ้นมา เพื่อใช้ในการติดตามข้อมูลของวัว เพราะจะมีวัวที่ได้รับฮอร์โมน และยาเวลาที่มันป่วย เรื่องยากคือการตรวจสอบให้มั่นใจว่าวัวแต่ละตัวได้รับยากในปริมาณที่ถูกต้อง ไม่ถูกจ่ายยาให้มากเกินไปจากความผิดพลาด จนได้เป็น UHF RFID Tag ที่ใช้พลังงานจาก RFID Reader ในการทำงาน

ต่อมาได้มีบริษัทที่พัฒนา RFID Tag ขนาดเล็กที่ทำงานบนย่านความถี่ต่ำ 125 kHz ขึ้นมา มันถูกบรรจุในแคปซูลขนาดเล็กเพื่อฝังไว้ใต้ผิวหนังของวัว ซึ่งยังมีการใช้ในวัวมาจนถึงปัจจุบันนี้ รวมถึงใช้ในบัตรผ่านเข้าประตูในอาคารต่าง ๆ

หลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนคลื่นจาก 125 kHz มาเป็นคลื่นความถี่สูงระดับ 13.56 MHz ซึ่งเป็นย่านที่ในหลายประเทศไม่มีการควบคุม และใช้งาน การที่ความถี่สูงขึ้นมันช่วยให้ระยะในการทำงานไกลขึ้น และรับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นอีกด้วย ปัจจุบันนี้ พวกบัตรเครดิตที่จ่ายเงินได้โดยไม่ต้องรูด และระบบป้องกันการโจรกรรมในยานพาหนะ ล้วนแต่ใช้ RFID ที่ทำงานในย่านนี้ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ที่เราไม่จำเป็นต้องไขกุญแจเพื่อเปิดประตู หรือสตาร์ตรถ เพียงแค่พกกุญแจติดตัวไว้ก็พอ 

ในช่วงต้นของปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) วิศวกรของ IBM ได้พัฒนา และจดสิทธิบัตร Ultra-high frequency (UHF) RFID ที่มีระยะทำการไกลกว่าเดิมมาก สามารถเชื่อมต่อได้ไกลถึง 20 เมตร และมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น ทาง IBM ได้นำร่องเทคโนโลยีนี้ด้วยการนำไปใช้ห้างสรรพสินค้าวอลมาร์ต (Walmart) อย่างไรก็ตาม ทาง IBM ไม่ได้นำเทคโนโลยีนี้ออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

จนกระทั่งถึงช่วง ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ที่บริษัท IBM ประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน จึงตัดสินใจขายสิทธิบัตรนี้ให้กับบริษัท Intermec ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบบาร์โค้ด ทาง Intermec ได้นำเทคโนโลยี RFID ที่ได้มาไปประยุกต์ใช้งานหลากหลายด้าน ตั้งแต่ระบบคลังสินค้า ไปจนถึงระบบภายในฟาร์ม แต่ในช่วงเวลานั้น เทคโนโลยีนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูง สืบเนื่องมาจากจำนวนยอดขายต่ำ, ไม่เป็นที่แพร่หลาย และยังไม่มีมาตรฐานสากลรองรับ

Cattle แอปพลิเคชันในช่วงเริ่มต้น

UHF RFID ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) เมื่อทาง Uniform Code Council (UCC) และ EAN International (ปัจจุบันนี้เปลี่ยนชื่อเป็น GS1) ทั้งคู่เป็นองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับมาตรฐานบาร์โค้ด และรหัสสินค้า ร่วมกับ Procter & Gamble (P&G) และ Gillette ซึ่งเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลก ได้ร่วมกันลงทุนก่อตั้งศูนย์ Auto-ID Center ขึ้นที่ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology (MIT)) 

สองศาสตราจารย์ David Brock และ Sanjay Sarma ที่ทำงานอยู่ที่นั่น ได้วิจัยหาวิธีผลิต RFID Tag ต้นทุนต่ำเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในสินค้าได้ทุกประเภท พวกเขาเสนอแนวคิดว่า จะใส่แค่หมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ลงไปเพียงอย่างเดียว เพื่อลดต้นทุนด้วยการลดขนาดข้อมูลให้น้อยลง ทำให้ราคาของไมโครชิปที่ใช้เก็บข้อมูลราคาถูกลงไปด้วย โดยจะมีฐานข้อมูลของหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ และเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่สามารถเข้าถึงได้ผ่าน อินเทอร์เน็ต (Internet) อีกด้วย

ไอเดียของ David Brock และ Sanjay Sarma ได้เปลี่ยนมุมมองที่คนมีต่อ RFID ให้เปลี่ยนไป จากเดิมที่ตัว Tags เป็นแค่ฐานข้อมูลสินค้าขนาดเล็กที่ติดไว้กับตัวผลิตภัณฑ์ ให้ RFID กลายเป็นเทคโนโลยีเครือข่าย ด้วยการเชื่อมต่อสินค้าเข้ากับอินเทอร์เน็ตผ่าน Tags ได้

สำหรับวงการธุรกิจแล้ว นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก เพราะมันช่วยให้ผู้ผลิตสามารถบอกให้พันธมิตรที่เป็นคู่ค้าทางธุรกิจรู้ข้อมูลการขนส่งสินค้าได้อย่างละเอียด สินค้าจะออกจากท่าเรือตอนไหน ?, สินค้าอยู่ที่คลัง หรือบริษัทขนส่ง ได้แบบอัตโนมัติ

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1999-2003 (พ.ศ. 2542-2546) Auto-ID Center ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่มากกว่า 100 บริษัท รวมไปถึงกระทรวงกลาโหมสหรัฐ และผู้ผลิตกุญแจ RFID อีกเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การขยายศูนย์วิจัยเพิ่มในหลายประเทศ ในออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, สวิตเซอร์แลนด์, ญี่ปุ่น และจีน มีการพัฒนา Air interface Protocols "Class 1" และ "Class 0", หมายเลขรหัสสินค้า Electronic Product Code (EPC) และสถาปัตยกรรมเครือข่ายสำหรับให้ RFID Tag ใช้ในการเชื่อมต่อไปยังฐานข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตขึ้นมา โดยตัวเทคโนโลยีได้ถูกจดลิขสิทธิ์โดย Uniform Code Council (UCC) ในปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546)

นอกจากนี้แล้วทาง UCC ยังได้ก่อตั้งองค์กร EPCglobal โดยร่วมทุนกับทาง EAN International ในการทำตลาดหมายเลขรหัสสินค้า Electronic Product Code (EPC) ให้แพร่หลาย

ร้านค้าปลีกขนาดยักษ์หลายแห่งในโลก เช่น Albertsons, Metro, Target, Tesco, Wal-Mart,และกระทรวงกลาโหมต่างให้การสนับสนุนเทคโนโลยี EPC ในการติดตามความเคลื่อนไหวสินค้าในระบบขนส่ง ภายหลังอุตสาหกรรมยา, ยางรถ และอุตสาหกรรมอื่น ๆก็ได้ปรับตัวหันมาใช้เทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน เป็นการปูทางการใช้งาน RFID มาจนถึงปัจจุบันนี้

ข้อดี และข้อเสียของ เทคโนโลยี RFID (Pros and Cons of The History of Radio Frequency Identification Technology)

ข้อดี

  •  เป็นวิธีการที่ราคาคุ้มค่า
  • ช่วยประหยัดเวลาด้วยการทำงานอัตโนมัติ
  • ติดตาม และจัดการคลังสินค้าได้ง่าย
  • ปรับปรุงความถูกต้องของข้อมูลให้พร้อมเสมอ
  • ควบคุมการผลิตได้ดีขึ้น
  • ลดขั้นตอนการทำงาน
  • เพิ่มคุณภาพให้การติดตาม และตรวจสอบ
  • เพิ่มความปลอดภัย

ข้อสังเกต

  • ต้นทุนเริ่มต้นสูงกว่าระบบบาร์โค้ด
  • การเริ่มต้นใช้งานครั้งแรกต้องใช้เวลาในการตั้งค่า  และเรียนรู้
  • สัญญาณถูกปิดกั้นได้จากแผ่นโลหะ หรือวัสดุที่มีความหนา
  • ความแม่นยำอาจลดลงถ้ามีสัญญาณรบกวน
  • เพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว

 


ที่มา : www.dhs.gov , www.techtarget.com , www.investopedia.com , www.fda.gov , www.geeksforgeeks.org , en.wikipedia.org , abr.com , www.spiceworks.com , how2electronics.com , www.rfidjournal.com , www.researchgate.net , www.rfpage.com , www.rfidjournal.com

0 RFID+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F+%E0%B8%AF%E0%B8%A5%E0%B8%AF
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น